เมื่อวันที่ 7 เม.ย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุถึงการอภิปรายในงบประมาณปี 67 ที่ผ่านมาว่า การซักถามของสว. และสส. พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่น่ารับฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อซักถามเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลถึงยังไม่ปฏิบัติตาม นโยบายและแนวทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลทั้งหมดแล้วก็พบว่าปัญหาของรัฐบาลอยู่ที่ 3 ส่วนคือ แผนงาน แผนเงิน และแผนคนซึ่งถ้าจะดำเนินการ แก้ไข จะต้องเข้าสู่การปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ของรัฐบาล

นายวรวัจน์ กล่าวว่าแผนงาน คือ การใช้งบประมาณ ของรัฐบาลมาจากแผนคำขอของหน่วยงานในระดับจังหวัด ซึ่งจะต้องมา จากแผนพัฒนาจังหวัด ที่เป็นเพียงข้อมูลโครงการความต้องการของพื้นที่ ซึ่งยังไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่มีแนวคิดแบบมองปัญหาในภาพกว้างและมีแนวคิดใหม่ๆ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่มีงบประมาณใช้ตามทิศทาง และแนวนโยบายในรูปแบบใหม่ที่แถลงต่อสภาฯไว้อย่างแท้จริง ดังนั้นนอกจากแผนงานพื้นฐานแผนงานยุทธศาสตร์ ที่ทำให้ระบบราชการขับเคลื่อนได้แล้ว สภาพัฒน์และสำนักงบประมาณจะต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายไว้เพิ่มเติมอีกด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการ หากปรับกรอบไม่ทัน อาจจะต้อง ขยายกรอบงบกลางในหมวดนโยบายเอาไว้เพราะยังไม่เห็นปรากฏแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายไว้ในหน่วยงานของรัฐที่ตรงกับนโยบาย ของรัฐบาลอย่างแท้จริงเลย

นอกจากนี้ ข้อจำกัด ของรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ก็ไม่อำนวยให้สภาผู้แทนราษฎรนำเสนอความต้องการของประชาชนเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการได้เลย ซึ่งที่จริงแล้วในยุคโซเชียลมีเดีย ประชาชนและฝ่ายค้านสามารถตรวจสอบการบรรจุการปรับงบประมาณของกรรมาธิการได้อยู่แล้วว่าถูกต้องหรือไม่จึงไม่ จำเป็นต้องจำกัดอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขจุดอ่อนและจุดด้อยของงบประมาณจนกระทั่งไม่สามารถนำเสนอความต้องการของประชาชนผ่านระบบนิติบัญญัติได้เลย

นายวรวัจน์ ระบุอีกว่า ปัญหาของแผนเงิน คือระบบงบประมาณที่ถูกกำหนดไว้อย่างแข็งตัว ทำให้ทุก หน่วยงาน ต้องปฏิบัติตามกรอบเดิมที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้ โดยไม่สามารถนำเสนอ การขอใช้งบประมาณตามความต้องการจริงๆได้เลย ซึ่งทำให้ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเสนอกฎหมายไม่ต้องนำเม็ดเงินจัดเก็บจากรายได้นำส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อให้เป็นงบประมาณตามกรอบที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้จึงทำให้มีเงินประเภท ใหม่คือเงินนอกงบประมาณเกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท ถึง 5.9 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 67 แล้ว โดยส่วนของแผนงบประมาณนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งปฏิรูปโดยเร่งด่วนอย่างยิ่ง

นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า แผนคน พบว่า มีการเกิดขึ้นของหน่วยงานใหม่จำนวนมาก มีความซ้ำซ้อน และบางหน่วยก็ปฏิบัติงานไม่ได้จริงรวมถึงแนวทางการดำเนินการของการบริหารราชการนั้น ดำเนินการตามรูปแบบเดิมมีความแข็งตัว และอุ้ยอ้ายทำให้ครม.ไม่สามารถสั่งงานได้จริง จึงพบข้อขัดแย้งในการบริหารราชการแผ่นดินเกิดขึ้นในเกือบทุกกระทรวงทบวงกรม ซึ่งถ้าดูง่ายๆจากการสั่งการปราบปรามปัญหายาเสพติด การแก้ไขพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่นั้น จะพบว่า การแต่งตั้งโยกย้ายผู้ปฏิบัติงานในภาวะวิกฤตของประชาชนรัฐบาลยังต้องรอปฏิบัติตามแนวทางและกรอบการบริหารบุคลากรตามรูปแบบของราชการแบบเดิมๆ ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าและไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประชาชน ทำให้เห็นว่า หากรัฐบาลจะต้องการดำเนินการ แก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศที่สะสมมายังช้านาน รัฐบาลจะต้องเร่งการปฏิรูประบบราชการทั้งแผนงานแผนเงินและแผนคน ให้เกิดขึ้น โดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นปัญหาแบบเดิมก็จะวนกลับมาแบบนี้ทุกปีไม่มีจบสิ้น

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณข้อเสนอแนะและความเห็นดีๆ จากทุกฝ่ายที่ นำเสนอด้วยความจริงใจ และเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติและแก้ไขเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายและทำให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนต่อไป