เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศพื้นที่ ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอัคคีภัยไฟป่า 5 อำเภอ จ.เชียงใหม่ ว่า เป็นการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติบางส่วน เห็นใจและเป็นกำลังใจผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติโดยไม่ตรงกับพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูง ฝุ่นไม่ได้หยุดในเขตอำเภอ พร้อมถามว่าพื้นที่ใน จ.เชียงราย และ จ.ตาก ไม่อยู่ในหน้าสื่อ ก็ไม่บริหารจัดการหรืออย่างไร เดี๋ยวฝนก็จะมา มันก็จะดีขึ้น เราต้องการรัฐบาล ไม่ได้ต้องการแค่ฝน เพราะหลังฝน ก็จะเกิดอะไรขึ้นอีก ดังนั้นเมื่อเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ต้องมีเงื่อนไขว่า พื้นที่ใดเป็นเขตภัยพิบัติ หรือไม่เป็นเขตภัยพิบัติ

นายพิธา กล่าวต่อว่า การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า เมื่อประกาศแล้ว มีงบประมาณ ข้อกฎหมาย และอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น เชียงรายที่มีฝุ่นไม่แพ้กัน สรุปจะเอาอย่างไร หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทั้งนี้เมื่อเดือนที่ผ่านมา ตนเองได้ขึ้นไปดูเขตไฟป่าที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยตนเอง ขณะนั้นเมื่อไล่ดูสถิติพบว่าปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานมา 22 วันติดกันแล้ว แต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เมื่อดูสถิติต่อเนื่อง พบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมาเกินสองสัปดาห์ ถ้าเป็นตนเองก็จะประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อให้นักเรียนหยุด และให้คนเวิร์กฟรอมโฮม ส่วนสถานการณ์ค่าฝุ่นใน จ.เชียงใหม่ เกินค่ามาตรฐานมาเกือบ 50 วันแล้ว เพิ่งมาประกาศ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร

เมื่อถามว่าถือว่าการบริหารจัดการของรัฐล้มเหลวหรือไม่ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 นายพิธา กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของอาจารย์ 4 ท่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้ป่วยด้วยโรค PM 2.5 มากขึ้น 3 เท่า จะบอกว่าไม่น่าเป็นจริง หรือสถานการณ์จริงไม่แย่ขนาดนั้น หรือเป็นการทำรูปให้ดูไม่ดีนั้น ในมุมของนักท่องเที่ยวที่เคยพูดคุยด้วย ขอบอกว่าไม่ต้องกลัวนักท่องเที่ยวไม่มา กลัวนักท่องเที่ยวมองไม่เห็นมากกว่า ได้ข่าวว่ายอดการจองเหลือ 50% ซึ่งจะต้องไปดูข้อมูลอื่นว่า มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวหรือไม่ โดยนักท่องเที่ยวเชียงใหม่ได้เล่าให้ตนเองฟังว่า นโยบายการท่องเที่ยวจะดีแค่ไหน หากไม่มีนโยบายรองรับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขก็ยาก 2 ปีแรกเชียงใหม่ซึม เพราะโควิด-19 ไม่ได้ซึมเพราะเชียงใหม่มีเสน่ห์น้อยลง แต่ปีที่ 3 และปีนี้ กลับโดนเรื่อง PM 2.5

“ต่อให้มีการท่องเที่ยวหรือเฟสติวัลมากมาย แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน ก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหา ปรากฏว่าไม่ได้ทั้งสองอย่าง นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ สิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของคนท่องเที่ยว เป็นคนที่ตัดสินใจเองว่าจะไปหรือไม่ไป รู้สึกเสียดายโอกาสที่ผ่านมา 3-4 ปี สงกรานต์เชียงใหม่ก็ยังซบเซา หากการบริหารจัดการล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ม.ค. เราจะเห็นเทศกาลสงกรานต์ที่มีความสุขและคึกคักมากกว่านี้ จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเท่าที่ทำได้ เช่น การมีหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมมากพอ การดูแลให้มีอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่น เครื่องกรองฝุ่นที่ไม่แพงจนเกินไป สามารถใช้งบประมาณที่ประกาศเขตภัยพิบัติมาช่วยเหลือคนในพื้นที่ได้ ตอนนี้ไม่ได้ห่วงนักท่องเที่ยว แต่ห่วงนักเรียน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยตามโรงพยาบาล เข้าใจว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข จะลงพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังคนและกำลังห้อง เพื่อให้หมอและพยาบาลไม่โอเวอร์โหลดจนเกินไปด้วย.