เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ร่วมกับนายจัสติน อัลเว ผู้จัดการด้านการตรวจสอบวิเคราะห์ความเสี่ยง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรึกษาสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ (Verification Manager, South East AsiaCounsellor-Immigration New Zealand) ร่วมแถลงผลการเปิดปฏิบัติการ “SAVING GOOD MAN“ ทลายแก๊งรับปลอมเอกสารยื่นขอวีซ่านิวซีแลนด์ เปิดทางผีน้อยโซนยุโรป

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกก.2 บก.สอท.3 ได้รับประสานข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ กรุงเทพฯ แผนกตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงธุรกิจนวัตกรรม และการจ้างงาน ว่าตรวจพบการปลอมแปลงเอกสารในการยื่นขอต่อวีซ่าแบบออนไลน์ของสถานทูตนิวซีแลนด์แบบออนไลน์ ผ่านช่องทาง www.immigration.govt.nz/new-zealand-visas โดยพบเอกสารที่ถูกปลอมแปลงเกี่ยวกับรายการเดินบัญชี จำนวน 6 ราย และเอกสารรับรองการทำงาน จำนวน 5 ราย และยังพบข้อมูลในลักษณะเดียวกันที่ถูกแชร์ระหว่างประเทศพันธมิตรทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เกี่ยวกับเอกสารการยื่นขอวีซ่าที่ถูกปลอมแปลง

ทางชุดสืบสวน กก.2 บก.สอท.3 ทำการสืบสวนจนทราบว่า เอกสารปลอมดังกล่าวมีที่มาจากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีนายจิรสิน (สงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี ชาวอุดรธานี อดีตผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่งเป็นเจ้าของ อีกทั้ง จากการตรวจสอบยังพบว่ามีการโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของบริษัท ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 2 หมื่นคนว่ารับแต่งบัญชีเพื่อประกอบการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศนิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศพันธมิตร

ต่อมา พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 พ.ต.อ.มรกต แสงสระดู ผกก.2 บก.สอท.3 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลจังหวัดอุดรธานี ออกหมายค้น 2 จุด ในพื้นที่ ต.เชียงพิณและ ต.บ้านเสื่อม อ.เมือง จ.อุดรธานี พร้อมจับกุมนายจิรสิน เจ้าของบ้านและเป็นเจ้าของบริษัท พร้อมตรวจยึดหลักฐานสำคัญ ประกอบด้วย อุปกรณ์สำรองข้อมูล เอกสารทางการเงิน สมุดบัญชี เอกสารเกี่ยวกับการขอวีซ่า และรายการบันทึกลูกค้า รวม 14 รายการ

จากการสอบปากคำนายจิรสิน ให้การยอมรับว่า ได้นำเอกสารตัวจริงไปสแกน แล้วใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ ทำการแก้ไขข้อมูลตกแต่ง ตัวเลขทางบัญชีให้รายการเดินบัญชีของลูกค้ามีเงินหมุนเวียนจำนวนมากขึ้น เป็นการสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือของผู้ที่จะขอยื่นวีซ่ากับทางสถานทูตต่างๆ แล้วบริษัทฯ ได้นำเอกสารที่แก้ไขดังกล่าวไปยื่นกับทางสถานทูตผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นขอวีซ่าสามารถเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า มีผู้ยื่นความประสงค์ให้บริษัทดำเนินการลักษณะดังกล่าวแล้วกว่า 100 คนโดยจะได้ค่าจ้างรายละ 25,000 บาท ทางเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชนแต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ก่อนควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.