นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีความห่วงใยประชาชนผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกัน รวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน โดยในช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน หรือเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นจำนวนมาก และทำให้การจองที่พักโรงแรมในช่วงเวลาดังกล่าวมีปริมาณมากขึ้น

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการให้บริการรับจองที่พักเป็นจำนวนมาก เช่น จองที่พักแล้วแต่ไม่ได้เข้าพัก ที่พักไม่เป็นไปตามโฆษณา โดนหลอกให้จองที่พักทิพย์ เป็นต้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงขอแนะนำประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะทำการจองที่พักหรือโรงแรม ดังนี้

จับสังเกต
• เลียนแบบเพจจริง ทั้งภาพและโพสต์ต่าง ๆ
• หลอกโดยสร้างอวตาร แฝงตัวในกลุ่ม FACEBOOK
• ล่อเหยื่อด้วยโปรโมชั่น หรือโฆษณาโดยใช้ข้อความว่า “หลุดจอง”
• ลวงให้โอนเงินมัดจำ หรือค่าที่พักทั้งหมด หลังจากนั้นติดต่อไม่ได้

วิธีการป้องกันและการรับมือ
• สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
• หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบชื่อซ้ำหรือคล้าย
• เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน
• โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ เลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
• เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
• เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะสร้างขึ้นได้ไม่นาน
• ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
• ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่
• หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา
• ต้องตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่
 
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน OCPB Connect เว็บไซต์ www.ocpb.go.th หรือที่ศูนย์ดำรงธรรม ในทุกจังหวัด ขอรับคำปรึกษาที่สายด่วน สคบ. 1166  หรือพูดคุยสอบถามกับ Chat Bot พี่ปกป้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง