เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าในวันที่ 15 เม.ย. 67 ประชาชนจะทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ยังคงคุมเข้มมาตรการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง และเตรียมพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสาร รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ต้องมีเพียงพอกับปริมาณผู้โดยสาร และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา และไม่ทิ้งผู้โดยสาร

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้กำชับให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำรวจไฟฟ้าแสงสว่าง และไฟสัญญาณจราจรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดให้บริการประชาชนตลอดเส้นทาง เพื่อพร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางในช่วงขากลับให้เกิดความคล่องตัว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง และช่องทางบริการให้ข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน และจุดบริการประชาชนผ่านศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67 สะสม 4 วัน (11-14 เม.ย. 67) โดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ และระหว่างประเทศ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 10,478,277 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 7.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 โดยระบบการขนส่งสาธารณะภายในประเทศ ระบบทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 45.16% สำหรับระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 172,144 คน-เที่ยว 2.ภาคใต้ : ทางถนน 124,593 คน-เที่ยว

3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) : ทางถนน 142,074 คน-เที่ยว 4.ภาคเหนือ : ทางถนน 85,675 คน-เที่ยว และ 5.ภาคตะวันออก : ทางถนน 71,776 คน-เที่ยว ขณะที่การจราจรเข้า-ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 3,983,236 คัน เพิ่มขึ้น 1.72% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 5,680,678 คัน ลดลง 2.70% ขณะที่ภาพรวมอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม สะสม 4 วัน (11-14 เม.ย. 67) พบว่า มีอุบัติเหตุฯ รวม 917 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 119 คน ผู้บาดเจ็บ 996 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 552 ครั้ง คิดเป็น 60% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 497 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 657 ครั้ง คิดเป็น 72%

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 8 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 45 ครั้ง โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4% จำนวนผู้เสียชีวิต ลดลง 4% และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 4% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต โครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศ ไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ.