เมื่อวันที่ 15 เม.ย. พญ.วิไลรัตน์ หล้ามาชน กุมารแพทย์ ศูนย์แม่และเด็กโรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อ RabiesVirus ติดต่อได้โดยการได้รับสารน้ำ หรือสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่ติดเชื้อนี้เข้าสู่บาดแผลโรคพิษสุนัขบ้านี้สามารถเกิดได้กับสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หนู ลิง กระรอก กระต่าย เป็นต้น ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะมีอาการแสดงได้ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน จะมีไข้ ปวดหัว มีอาการทางระบบประสาท โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อของระบบประสาท จะมีการแบ่งตัวและเดินทางเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดสมองอักเสบชนิดรุนแรง อาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ มักมีอาการกลัวน้ำ อาจมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที มักเสียชีวิตเกือบทุกราย

พญ.วิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า หากถูกสุนัข หรือแมวกัด ข่วนเลีย ขอให้รีบมาฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนที่ฉีดก่อนสัมผัสโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ข้อดี คือ 1. ลดการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) รอบบาดแผล ซึ่งเป็นวัคซีนการให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลังโดนสัตว์กัด อาจมีอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนที่พบในผู้ป่วยบางราย อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง 2. ลดจำนวนในการฉีดวัคซีน หากมีการฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสโรคแล้ว เมื่อโดนสัตว์กัด ผู้ป่วยจะได้รับการกระตุ้นเพียง 1-2 เข็มเท่านั้น แทนการฉีด 5 เข็ม ซึ่งสามารถลดจำนวนการฉีดลงได้ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสโรค จะฉีกทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1 สัปดาห์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีโปรแกรมดังกล่าวอยู่ ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่วันนี้- 31 ธ.ค. 2567