เมื่อวันที่ 25 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารระบุถึงคุณสมบัติ และคุณสมบัติต้องห้ามของผู้จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ดังนี้ 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก 3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี (ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (14) และ (15)) 

4. ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ก) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก (ข) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก (ค) ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก (ง) เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี (จ) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา และผู้สมัครจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืน รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใด ได้สมัครรับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี นอกจากนี้ ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

นอกจากนี้ กกต. ยังได้ออกเอกสารตอบข้อหารือลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็น สว. 3 ประเด็น ดังนี้ 1. กรณีเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ออกจากการเป็นสมาชิกกี่วัน ทาง กกต. ชี้แจงว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (21) กำหนดว่า ผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันสมัครรับเลือกเป็น สว. บุคคลซึ่งสมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ย่อมถือว่าบุคคลนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครตามมาตรา 14 (21) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

2. กรณีบุคคลดำรงตำแหน่งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ทาง กกต. ชี้แจงว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 กำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งหมายความว่า (1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรี (3) สส. (4) สว. (5) ข้าราชการการเมืองอื่นนอกจาก (1) และ (2) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง (6) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา กรณีตามข้อหารือเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเทียบเคียงจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

3. กรณีบุคคลดำรงตำแหน่งคณะกรรมการชุมชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชน พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่สอง พ.ศ. 2566 ข้อ 16 และ ข้อ 18 วรรคสอง ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าไม่ ต้องลาออกในวันรับสมัครหรือไม่ และกี่วัน กกต. ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 ก.พ. 2543 สรุปลักษณะของ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไว้ โดยเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมายรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำโดยอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐและมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย ดังนั้น บุคคลใดจะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ ควรหารือไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อวินิจฉัยว่าตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนอยู่ในความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นหรือไม่.