เมื่อวันที่ 30 เม.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งสารเนื่องใน “วันแรงงานสากล” 1 พ.ค. 2567 ใจความสรุปว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้รับรองสิทธิในการทำงาน การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิของทุกคนในการมีสวัสดิการสังคมและมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว “สิทธิแรงงาน” จึงเป็นสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ กสม.ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องสิทธิแรงงานในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ทั้งในระบบและนอกระบบยังมีปัญหาถูกเลิกจ้าง การค้างค่าจ้าง ค้างค่าชดเชย แรงงานหลายกลุ่มไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย กระทบการมีงานทำ ความมั่นคงในการเลี้ยงชีพ และการเข้าถึงสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม หรือ ไรเดอร์ ซึ่งไม่ได้รับการปฏิบัติจากบริษัทแพลตฟอร์มในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมาย ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ เช่น แรงงานที่ไปเก็บเบอร์รี่ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ มีปัญหาถูกหลอกไปใช้แรงงาน ไม่ได้รับการดูแลตามสัญญาจ้าง และต้องอยู่ภายใต้สภาพการทำงานที่ยากลำบาก การบังคับใช้แรงงานมีลักษณะเป็นขบวนการค้ามนุษย์

ขณะที่แรงงานที่ได้รับสวัสดิการทางสังคมตามกฎหมาย คือผู้ประกันตน ยังมีความเหลื่อมล้ำจากการรับบริการด้านสาธารณสุข เช่น บริการทันตกรรม ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับต่ำกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เป็นต้น

เนื่องในวันแรงงาน 2567 กสม. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มที่เข้าไม่ถึงความคุ้มครองทางสังคม เช่น ลูกจ้างทำงานที่บ้าน ลูกจ้างภาคการเกษตร ไรเดอร์ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งแรงงานไทยในต่างประเทศ ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และควรมีมาตรการจูงใจในการนำลูกจ้างทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าสู่ระบบประกันสังคม และเร่งปรับปรุงให้สิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ กสม.

และขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทยได้รับความเป็นธรรม มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ดี และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ โดยไม่ถูกแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ อันจะเป็นการสร้างมาตรฐานแรงงานไทย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่อไป.