เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณซอยพหลโยธิน 37 นายธีระ​ อัชกุล ผู้อาศัยในซอยพหลโยธิน 37 และนายสุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้อาศัยและใช้ประโยชน์ในซอยพหลโยธิน 37 ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการปรับปรุงถนนและสร้างทางเท้าซอยพหลโยธิน 37 ของสำนักงานเขตจตุจักร

นายธีระ​ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยผู้อาศัยและใช้ประโยชน์ในซอยพหลโยธิน 37 ได้รับความเดือดร้อนจากการปรับปรุงถนนและสร้างทางเท้าในซอยพหลโยธิน 37 และได้มีการเริ่มเข้าดำเนินการขุดถนนเพื่อทำทางเท้าของสำนักงานเขตจตุจักร ซึ่งตนและคนในชุมชนได้ทราบเรื่องดังกล่าวจากผู้รับเหมา จึงได้ทำหนังสือคัดค้านการสร้างทางเดินเท้าในซอยถึงผอ.เขตจตุจักร ต่อมาในวันที่ 2 เม.ย. จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ผอ.เขตจตุจักร ตัวแทนผู้รับเหมา และตัวแทนชุมชนพหลโยธิน 37

และได้มีการทำหนังสือสรุปรายงานการประชุมถึงเหตุผลในการคัดค้านว่า จากเดิมถนนมีพื้นที่คับแคบอยู่แล้ว บางช่วงของถนนมีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร การทำทางเดินเท้าจะทำให้ผิวจราจรในซอยแคบลงและเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร ซึ่งในปัจจุบันมีสภาพการจราจรติดขัดมากโดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน ชาวชุมชนอยากให้เขตหยุดการดำเนินการดังกล่าวก่อนและเข้ามาพูดคุยปรับแบบกับชาวชุมชนเพื่อให้การใช้งบประมาณในครั้งนี้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด

ขณะที่คนในชุมชนอีกหลายราย กล่าวว่า สำนักงานเขตจตุจักรได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue ให้ทำทางเท้าภายในบริเวณดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าคนร้องเรียนไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ ประกอบกับภาพที่นำมาร้องเรียนไม่ใช่ภาพ ณ ปัจจุบัน จึงเกิดความสงสัยว่าเหตุใดทางเขตจึงอนุมัติคำร้องดังกล่าว ซึ่งจากการสอบถามคนในชุมชนต่างมีความเห็นตรงกันว่าไม่ต้องการทางเท้าในซอยพหลโยธิน 37 ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยเพื่อนำส่งให้เขตอีกครั้ง

นอกจากนี้ในขณะที่ผู้รับเหมามาขุดเจาะถนนยังพบว่ามีท่อน้ำประปาแตก 2 ท่อ ส่งผลให้คนในชุมชนใช้น้ำประปาไม่ได้เป็นเวลาเกือบ 4 ชม. และยังพบว่ามีการขุดย้ายหมุดหลักเขตริมรั้วบ้านร้างอีกด้วย แต่หากทางเขตมีการปรับปรุงถนนก็เห็นด้วย โดยอยากให้มีการปรับปรุงให้ผิวถนนราบเรียบสม่ำเสมอและมีการระบายน้ำที่ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คนในชุมชนร้องเรียนไป เช่น สถานบันเทิงหน้าปากซอยส่งเสียงดังรบกวนการพักผ่อน อยากให้เขตเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนไปหลายครั้ง

นายสุประวัติ เปิดเผยว่า สิ่งที่สำนักงานเขตจตุจักรทำเพื่อพัฒนาชุมชนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้สิ่งที่เขตทำตรงกับความต้องการประชาชนด้วย โดยสิ่งที่คนในชุมชนต้องการคืออยากให้แก้ไขให้ถนนเรียบ และระบายน้ำได้อย่างคล่องตัว กรณีที่มีฝนตกหนักหรือน้ำท่วมขัง

ขณะที่บุคลากรโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในซอยพหลโยธิน 37 ระบุว่า หากเขตจะมีการปรับปรุง ปรับผิวจราจรให้เรียบเพื่อการเดินรถและเดินเท้าได้สะดวก​ จึงควรทำให้มันสะดวกทั้งการเดินรถและเดินเท้า เพราะจะตรงกับความต้องการและสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนมากกว่า เนื่องด้วยเรื่องการสัญจรมาโรงเรียนโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองจะนำรถยนต์มาส่งลูกหลาน นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการปรับปรุงในเรื่องของการระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

นายธีระ กล่าวเพิ่มว่า นอกจากนี้ทางเขตยังได้มีการทำหนังสือแจ้งเรื่องการก่อสร้างกระถางต้นไม้ ที่บริเวณหน้าบ้านของตนเองว่า เป็นการบุกรุกหรือรุกล้ำที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ซึ่งตนขอชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวได้มีการถูกสร้างไว้มากว่า 50 ปีแล้ว และได้มีการสงวนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณกระถางต้นไม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยาย จึงถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริเวณปากซอยพหลโยธิน 37 สำนักงานเขตจตุจักรได้มีการติดป้ายประกาศโครงการปรับปรุงซอยพหลโยธิน 37 ตั้งแต่ถนนพหลโยธินถึงโรงเรียนอรรถมิตร เริ่มสัญญา วันที่ 1 ก.พ. 67 ถึง 30 พ.ค. 67 วงเงินค่าก่อสร้าง 3,780,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน.