เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือกรณีกลุ่มคนจากม็อบทะลุแก๊สที่ถูกจับในวันที่ 6 ต.ค. ถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย และขโมยเงินกว่า 3,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า กรณีการโพสต์คลิปเสียงที่ระบุว่า กลุ่มคนจากม็อบทะลุแก๊สที่ถูกจับในวันที่ 6 ต.ค. ถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย และขโมยเงินกว่า 3,000 บาทนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษของประชาชนจากกลุ่มผู้ชุมนุม ว่ามีเจ้าหน้าที่ตํารวจรายใดเข้าทําร้ายร่างกายและขโมยเงินตามที่คลิปเสียงไม่ทราบแหล่งที่มาประกอบกับคลิปเสียงนั้นก็มีข้อความไม่ชัดเจน บิดเบือน ใส่ความเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย

รองโฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า หากปรากฏว่า มีพยานหลักฐานหรือมีการเข้ามาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามช่องทางกฎหมายที่ได้กําหนดไว้ บช.น.ขอยืนยันว่า จะไม่มีการปกป้องเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กระทําผิดกฎหมายและพร้อมจะดําเนินการพิสูจน์ความผิดในส่วนของคดีอาญาและคดีวินัยต่อไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากตร. ติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.royalthaipolice.go.th หรือโทร. 1599 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลของตํารวจที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษของประชาชนจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า มีเจ้าหน้าที่ตํารวจรายใดเข้าทําร้ายร่างกายและขโมยเงินตามที่คลิปเสียงไม่ทราบแหล่งที่มาระบุ

รองโฆษก ตร. กล่าวด้วยว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสนเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2), (5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ