กรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการเผยแพร่ความสำเร็จการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา พัฒนาชุมชนมุ่งขับเคลื่อนภารกิจไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง มีการดำเนินงานหลายด้าน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม การเรียนรู้การพึ่งตนเองการบริหารจัดการชุมชนให้พึ่งตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อให้ เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนเชื่อมั่นว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศชาติ รอดพ้นวิกฤติ จึงได้น้อมนำพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541

“..เศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้ จะทำความเจริญแก่ประเทศได้. แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID–19) การขับเคลื่อนโครงการฯ สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่า โคก หนอง นา คือทางรอด กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นภารกิจและงบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน และทั้งในส่วนที่ได้รับงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID–19) แต่ทั้งสองส่วนยังคงยึดแนวทางการพัฒนา “คน” พัฒนา “พื้นที่” ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ นำไปสู่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการฯ จะช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้มั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เรามุ่งเน้นให้เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเป็นสำคัญ และการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนภารกิจจากภาคีเครือข่ายการพัฒนา ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน นับเป็นความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือ ประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีโอกาสดี ๆ ในหลายด้าน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มุ่งขับเคลื่อนภารกิจไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง มีการดำเนินงานหลายด้าน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม การเรียนรู้การพึ่งตนเอง การบริหารจัดการชุมชนให้พึ่งตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข

จากภาวะวิกฤติโควิด–19 ที่เกิดขึ้น มีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่ถูกเลิกจ้างและเดินทางกลับภูมิลำเนา กลับมาพลิกฟื้นผืนดินของตนเอง จากเดิมทำนา หรือพึ่งพาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว มาประยุกต์เป็นรูปแบบ “โคก หนอง นา” เพราะเขาเข้าใจ ถึงความยั่งยืน และความอยู่รอดในอนาคตสามารถกลับสู่ภูมิลำเนาบ้านเกิดและอยู่ได้อย่างมีความสุข โอกาสที่กลับไปขายแรงงานรับจ้าง ในเมืองใหญ่จะลดน้อยลง ปัญหาอื่น ๆ อีกหลายด้าน จะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจุดแข็งจากแนวคิด “โคก หนอง นา” นี้คือ พี่น้องประชาชนจะมีอาหารที่ปลอดภัย (ไม่ใช้สารเคมี) เข้าถึงง่าย (ไปเก็บเมื่อไหร่ก็ได้) ถึงแม้เกิดโควิด-19 ไม่สามารถไปจับจ่ายซื้ออาหารที่ตลาดได้ ก็สามารถอยู่ได้เพราะมีพืชผัก ผลไม้ ปลา กบ กุ้ง หอย ที่ปลูกที่เลี้ยงเป็นอาหารสำหรับคนในครอบครัวได้ พื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา” เป็นแหล่งพักพิงแก่ประชาชน เพราะนอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังมีที่พัก มีแหล่งอาหาร มีวิทยากรครูพาทำ ที่ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งการดำเนินชีวิตและอาชีพได้ ซึ่งในอนาคต “โคก หนอง นา” จะเป็นแหล่งก่อเกิด ป่า เพราะมีการปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งไม้สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน และพืชหัวใต้ดิน มีสมุนไพรต่าง ๆ เกิดระบบนิเวศที่สมดุล กระจายในพื้นที่ทุกจังหวัด

โดยบทบาทกรมการพัฒนาชุมชนในการขับเคลื่อนโครงการ “โคก หนอง นา” ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต คือกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะหน่วยรับผิดชอบโครงการกับเจ้าของแปลง (ประชาชน) ที่เข้าร่วมโครงการมิใช่เพียงการพัฒนาพื้นที่หรือปรับขุดแปลงเท่านั้น พื้นที่ “โคก หนอง นา” ที่ดำเนินการทั้งหมดจะถูกยกระดับและพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ที่หลากหลาย ทั้งระดับครัวเรือน ตำบล หรือ ศูนย์เรียนรู้ที่เชื่อมโยงเครือข่าย ที่จะเป็นหน่วยให้บริการในด้านความรู้ การฝึกปฏิบัติการฝึกอบรมแก่พี่น้องประชาชนทั่วไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปีรวมถึงให้เกิดการขยายผลการดำเนินการไปในพื้นที่ข้างเคียง รวมถึงกระจายไปให้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศเกิดพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ทุกหมู่บ้านทุกตำบล ทุกอำเภอ และทุกจังหวัดของประเทศ

กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ผนึกกำลังกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อดำเนินงานโครงการการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก[Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals] (SEP to SDGs) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการบริหารจัดการ น้ำ อาหาร และพลังงานอย่างสมดุลและยั่งยืน ใช้การบริหารจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

โดยเริ่มจากการให้ความรู้คนทั้งทางทฤษฎีและวิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้คนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและออกแบบพื้นที่หาแหล่งน้ำหรือปรับปรุงพื้นที่รองรับน้ำฝน เพื่อนำน้ำนั้นมาใช้ในการฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพของดิน โดยเน้นหลักการ “เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ให้พืชเลี้ยงเรา” และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในทรัพยากรดิน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางสังคมศาสตร์ สร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับครัวเรือนและตำบลอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการดังกล่าวได้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ในปีนี้ ทางกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้นำส่งรายงานกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมประกวดงาน วันดินโลก ระดับชาติ (World Soil Day 2021) ด้วยเพื่อมุ่งหวังการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวกับวันดินโลกของพี่น้องประชาชนคนไทย ที่เข้าร่วมโครงการนำสู่สายตาชาวโลก ที่เป็นการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านฯ มาสู่การปฏิบัติในประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ที่ทาง UNFAO และ GlobalSoilPartnership กำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวด มีด้านต่าง ๆ ดังนี้

– ด้านการศึกษา (Educational project)

– งานภาคสนาม / การเฉลิมฉลอง (Field work/celebration)

– กิจกรรมร่วมกับเกษตรกร (Activities with farmers

– กิจกรรมเฉลิมฉลองภาคสนาม (Celebration in the fiField)

จากที่ได้กล่าวมา กรมการพัฒนาชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในทรัพยากรดิน ไม่ว่าจะเป็นการห่มดินและปรับปรุงโครงสร้างดินผ่านการห่มดินการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโต ผลิดอก ออกผล ผ่านการเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช การช่วยให้ดินดูดซับและกรองน้ำผ่านการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งเป็นกำแพงที่มีชีวิต เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและการปลูกป่า 5 ระดับการทำให้ทรัพยากรดินช่วยสร้างความต้านทานต่อโรคและแมลงผ่านการใช้น้ำหมักสมุนไพร 7 รส และงดใช้สารเคมีลงในดิน การทำให้ดินเป็นแหล่งของยารักษาโรคและใช้เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่มนุษย์ ผ่านการปลูกพืชผักและสมุนไพรต่าง ๆ การช่วยแก้ไขปัญหาดินปนเปื้อนผ่านการบำบัดน้ำเสีย ระบบสายลมและแสงแดด

การใช้ทรัพยากรดินสร้างป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ช่วยลดและบรรเทาปัญหาโลกร้อน และเป็นการรักษาระบบนิเวศผ่านการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในทรัพยากรดิน เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ สร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืนและสร้างรูปแบบการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันไปสู่เป้าหมายของการก่อตั้งวันดินโลก ซึ่งตอบสนองไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals-SDGs).