ในวันที่ 10 พ.ย. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน และส่วนสำคัญคือพิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับเพิ่ม หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะพิจารณาตามเสถียรภาพระบบการเงิน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก

ในการประชุม กนง. รอบวันที่ 10 พ.ย.นี้ สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจจากค่ายธนาคารพาณิชย์ ได้คาดการณ์ไว้เป็นเสียงเดียวกันว่า กนง.ในรอบนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปีอีกเช่นเคย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะมีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูของเศรษฐกิจไทย

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมิน กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% หลังจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน โดยแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้อาจยังคงมีจำกัด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้

ขณะที่ เงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นอย่างมากจากราคาพลังงาน แต่โดยรวมระดับเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของกนง.ที่ 1-3% โดยยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่อง หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและไม่ย่อตัวลงมาอย่างที่คาด ซึ่งจะสร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนก.ย. เร่งตัวสูงขึ้นที่ 1.7% หลังจากมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟสิ้นสุดลงประกอบกับราคาน้ำมันเร่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.2% โดยภาครัฐจะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน แต่หากราคาน้ำมันดิบโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปและไม่ย่อตัวลงในปีหน้า อาจส่งผลให้ในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยอาจพุ่งสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมายได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงสวนทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาจเป็นความท้าทายให้กนง.พิจารณา

ด้าน “วิจัยกรุงศรี” ระบุว่า กนง. ยังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้และตลอดปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางจากวิกฤติโควิด-19 เช่น ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและตลาดแรงงานอ่อนแอ จึงมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางการเงินที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญกว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมองว่าไทยมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ในช่วงที่เหลือของปีอัตราเงินเฟ้อยังคงเผชิญแรงกดดันจาก 1.ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาด้านอุปทาน 2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวจากประเทศที่กำหนด 3.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวค่อนข้างช้า กนง.อาจมีแนวโน้มตรึงไว้อย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและไม่สม่ำเสมอ แม้อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานอยู่บ้างในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าก็ตาม

ขณะที่ “KKP เกียรตินาคินภัทร” ได้คาดการณ์ กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในปีนี้และในปีหน้า แต่มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 66 ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า เชื่อว่ากนง.มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบันจนกว่าภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปีหน้าเช่นกัน