เมื่อวันที่ 12 พ.ย. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการงานจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom โดยนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวเปิดการประชุมฯ ว่า รถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นรถไฟฟ้าสายที่ 3 ที่ดำเนินการโดย กทม. หลังจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการ และเปิดให้บริการในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีทอง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีก 1 โครงการที่รัฐบาลมอบให้ กทม. ดำเนินการด้วย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) สายบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา และจะให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับสายสีเทา

นายขจิต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ทางสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ศึกษาความเหมาะสม จัดทำแบบเบื้องต้น และจัดเตรียมเอกสาร พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 58 แบ่งแนวเส้นทางเป็น 3 ระยะ รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. 15 สถานี, ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กม. 16 สถานี และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.5 กม. 9 สถานี โดยผลการศึกษาเสนอแนะให้ดำเนินการระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เป็นโครงการนำร่องก่อน วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2.75 หมื่นล้านบาท

แต่เนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อม ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมเลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 58 และ กทม. มีแผนที่จะพัฒนาโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาให้ดำเนินการทบทวน และปรับปรุงผลการศึกษาเมื่อปี 58 เพื่อให้เป็นปัจจุบัน อาทิ แนวเส้นทาง สถานี การคาดการณ์ผู้โดยสาร รายได้ และมูลค่าลงทุน พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ด้วย มีระยะเวลาดำเนินการ 200 วัน คาดว่าจะจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วง วัชรพล-ทองหล่อ แล้วเสร็จปี 65 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 66 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน ในปี 67-68 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี (ปี69-72) และเปิดให้บริการปี 73  

ทั้งนี้ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานอีไอเอ ครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาต่อไป

นายชยภัทร รักพานิชย์มณี วิศวกรโครงการ กล่าวว่า โครงการใช้รูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง และบังคับทิศทางด้วยคานรางเดี่ยว (Guideway Beam) รองรับผู้โดยสารได้ 8,000-30,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ระยะเวลาการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 62 นาที ความเร็วในการให้บริการเฉลี่ย 35 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) สูงสุด 80 กม.ต่อ ชม.

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการสัมมนาในครั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Interview) ในช่วงประมาณเดือน ม.ค.65 และจะจัดสัมมนาสรุปผลโครงการ ในช่วงประมาณเดือน มี.ค. 65 เพื่อนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป