เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 350 ล้านบาท ว่า มีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ. เป็นผู้รับหนังสือ

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า มีข้อสงสัยในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยพบว่า มีบางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดที่ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไป จึงจะสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรฯ ได้ ตนจึงทำการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อที่ สปน.ประกาศในระดับจังหวัด ก็พบว่าองค์กรผู้บริโภคที่แจ้งไว้กับทางราชการนั้น ชาวบ้านในบางพื้นที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน ก็พบว่าหลายองค์กรไม่มีที่ตั้งตามที่แจ้งไว้ หรือไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าที่อยู่ซึ่งจดแจ้งในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่ในสารบบเลย บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง และไม่มีคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เลย อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตามมาตรา 6 ประกอบ มาตรา 5 ของกฎหมาย จึงได้ทำบันทึกถ่ายรูป อัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และนำหลักฐานทั้งหมดมามอบให้กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรต่อไป เพราะหากบุคคลและหรือองค์กรผู้บริโภคที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์ อาจถือเป็น “โมฆะ” ตามกฎหมาย การทำนิติกรรมใดๆ ขององค์กรดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะและจะกระทำมิได้ด้วยอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ต.ค.63 เคยได้ยื่นเรื่องร้องให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคดังกล่าวว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

“มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 กำหนดไว้ว่า การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆ จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อมีการสุ่มตรวจบางองค์กรก็พบความจริงว่ากว่า 16 องค์กร ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด และไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ ก็อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า เบื้องต้น กระทรวงยุติธรรมจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าวและหน่วยงานต่างๆ ว่าใช้เอกสารจดแจ้งอย่างไรและปฏิบัติตามข้อกฎหมายหรือไม่ โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน