ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 แล้ว โดยพระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.64 ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางตามบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอธิบดี ขร. จะร่วมประชุมวาระแรกเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง  รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันฯ และการสรรหาเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานยังสถาบันฯ ต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ขร. แจ้งต่อว่า เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เนื่องจากการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องพึ่งพาองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อให้สามารถพัฒนาระบบรางได้อย่างยั่งยืนและลดพึ่งพาต่างประเทศ จึงควรจัดตั้งหน่วยงานในประเทศที่มีหน้าที่ศึกษา วิจัย เปรียบเทียบเทคโนโลยีระบบราง และประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อใช้วางยุทธศาสตร์ของประเทศ พร้อมทั้งบริหารจัดการงานวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบราง และการขนส่งทางราง ตลอดจนการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และส่งเสริมอุตสาหกรรมในระบบการขนส่งทางราง รวมถึงบูรณาการความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบราง

สำหรับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สกร.) จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง สร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง  รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศอย่างแท้จริง มีเป้าหมายเร่งด่วนคือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV ต้นแบบครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการอื่นๆ ในอนาคต ส่วนเรื่องทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการจะมีเงินประเดิม เงินอุดหนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ค่าธรรมเนียมและค่าตอบแทนจากการให้บริการของสถาบันวิจัยฯ และดอกผลรายได้จากทรัพย์สิน โดยสถาบันวิจัยฯ จะมีแนวทางในการจัดองค์การในแบบศูนย์ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านรถไฟความเร็วสูง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านรถไฟขนส่งสินค้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านรถไฟฟ้าในเมือง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาบุคลากรระบบราง และศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อมูลระบบราง เป็นต้น ซึ่งแต่ละศูนย์จะเน้นการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และหน่วยงานผู้ใช้เทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมระบบรางให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมต่อไป.