เมื่อวันที่ 14 ก.ค. น.ส.อังคนางค์ ชากีร่า บำรุงสรณ์ หรือ มาดามพลังงาน ประธานกรรมการ บริษัท รีเจน โซลูชั่น แอนด์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด กล่าวถึง เหตุการณ์ไฟไหม้ โรงงานหมิงตี้ ว่า ในฐานะที่ตนเองอยู่ในวงการป้องกันการระเบิด ( Explosion Proof ) ในพื้นที่อันตราย ( Hazardous Area ) และ ตลาดพลังงานมาเกือบสิบปี และได้ผ่านการรับรับรองเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ด้านการป้องกันการระเบิด (CoCP ) จากสถาบัน IECEx ระดับนานาชาติ ในการควบคุมและป้องกันการระเบิดจากสารไวไฟในพื้นที่อันตรายนั้น

น.ส.อังคนางค์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้จากสารเคมีรั่วไหล ส่วนใหญ่มาจากอุปกรณ์ที่ใช้งานมานาน และขาดการดูแลซ่อมบำรุง ทำให้อุปกรณ์เสื่อมหรือชำรุดได้ หรือความผิดพลาดจากการปฎิบัติงาน การซ่อมบำรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุกรณีของโรงงานหมิ่งตี้ กิ่งแก้วในครั้งนี้คาดการณ์ว่า สารเคมีที่ใช้ในการผลิตรั่วไหลออกมาภายนอกถังเก็บปริมาณความเข้มข้นที่สามารถทำให้เกิดการติดไฟได้ และทางโรงงานอาจจะไม่มีระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสารเคมีรั่วไหลภายในโรงงาน ทำให้ไม่มีใครรู้เนื่องจากเหตุการณ์เกิดกลางดึก ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีคนเข้าไประงับเหตุ ปล่อยให้สารเคมีรั่วไหลออกมาภายนอกจำนวนมาก ซึ่งมีโอการจะไปเจอกับ แหล่งจุดไฟ Ignition Source ที่มีอยู่ทั่วไปภายในโรงงาน

“โรงงานหมิงตี้มีวัตถุดิบที่เป็นสารเคมีคือ สไตรีนมอนอเมอร์เป็นของเหลว ไฮโดรคาร์บอน ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส สามารถติดไฟได้ง่ายมาก และด้วยปริมาณสารเคมีที่มีการรั่วไหลจำนวนมาก ทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรง และเปลวไฟได้ลุกลามไปยังถังเก็บสารเคมีถังอื่นๆ ส่งผลให้การดับไฟเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยขนาดของโรงงานที่มีสารเคมีกว่า 2,000 ตัน” มาดามพลังงาน

น.ส.อังคนางค์ กล่าวต่ออีกว่า โรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงเกิดระเบิด ต้องจัดการให้ดีไม่งั้นอาจเจอระเบิดล้างเมืองได้ โรงงานอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ ที่มีสารไวไฟ หรือมีโอกาสเกิดการระเบิด เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี แนวท่อส่งแก๊ส โรงงานสารเคมี โรงงานผลิตหรือเก็บวัดถุระเบิด โรงงานพลุ โรงงานพ่นสี โกดังเก็บสินค้าไซโล โรงงานแป้งมัน โรงงานน้ำตาล โรงงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งโรงงานกลุ่มข้างต้นมีสารไวไฟที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตจำนวนมหาศาล หากเกิดความหละหลวมทางด้านการควบคุมความปลอดภัยจากการระเบิด อาจทำให้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน ซึ่งตัวอย่างการเกิดเหตุการณ์ระเบิดจากทั่วโลกก็มีให้เห็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งถ้าจะประเมิณว่ารุนแรงแค่ไหน ก็แอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตัน มีความรุนแรงของแรงระเบิดเท่า ระเบิด ทีเอ็นที จำนวน 3,000 ตัว ซึ่งก็เคยล้างเมืองเบรุต ของเลบานอนมาแล้ว เราก็หวังว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

น.ส.อังคนางค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดเพลิงไหม้จากการรั่วไหลของสารเคมี อย่างแรก คือ ข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี ที่จะบ่งบอกลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมี การทำปฎิกริยากับน้ำที่อาจจะก่อให้เกิดความเป็นพิษมากขึ้นในบางชนิด และยังมีข้อมูลมาตรการผจญเพลิง ที่แสดงข้อมูล หรือสารที่ใช้ดับไฟที่เหมาะสม รวมถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของสารเคมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันภัยและคำแนะนำอื่นๆในการดับเพลิงสำหรับนักผจญเพลิง การใช้น้ำในการดับเพลิงกับสารเคมีบางชนิดยิ่งทำให้สารเคมีละลายเข้ากับน้ำเป็นเชื้อเพลิงลุกลามในวงกว้างขึ้น ขั้นตอนการดับเพลิงไหม้ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้ โฟมดับเพลิง เท่านั้น เนื่องจากเป็นสารเคมีสำหรับควบคุมเพลิงในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะ และในระหว่างดำเนินการดับเพลิงต้องเพิ่มความระมัดระวังในส่วนของบริเวณที่จัดเก็บวัตถุดิบไวไฟเหล่านี้อีกด้วย ส่วนการเก็บกู้สารเคมี หากพื้นที่นั้นยังมีสารไวไฟก็ยังคงถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงระเบิด หากเกิดความผิดพลาดของอุปกรณ์การกอบกู้หรือความผิดพลาดของผู้ปฎิบัติงาน ก็สามารถเกิดระเบิดได้อยู่ แต่ส่วนความรุนแรงก็แล้วแต่ว่ามีปริมาณสารเคมีหลงเหลือมากน้อยแค่ไหน.