เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานประกันสังคม ได้ประชาสัมพันธ์โครงการการขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งที่จะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ ในเรื่องนี้ได้เกิดกระแสคัดค้านในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโซเชียลมีเดียอย่างมาก โดยเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ไม่เป็นคุณต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นห่วงเงินกองทุนที่จะไหลออกจากกรณีผู้ประกันตนที่เกษียณและมีสิทธิรับสิทธิประโยชน์เงินบำนาญมีจำนวนมาก โดยไม่ได้เข้าถึงหรือคำนึงถึงผู้ใช้แรงงานที่ต้องทำงานหนักในแต่ละวัน จึงถึงเวลาเกษียณเป็นเวลากว่า 55 ปี ก็แทบแย่แล้ว เพราะส่วนใหญ่งานในโรงงาน ส่วนใหญ่พนักงานฝ่ายผลิตต้องยืนทำงานทำงานไม่ต่ำกว่า 8 ชม.ต่อวัน ซ้ำต้องทำโอทีด้วย เมื่อเลิกงาน หมดแรงกลับบ้านด้วยความเมื่อยล้า

ขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี ยันไร้กระทบผู้ประกันตนใกล้ปลดระวาง

“ดังนั้น เรื่องนี้ ทำให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้สั่งการไปยังสำนักงานประกันสังคม ให้ยกเลิกแนวคิด ที่จะขยายอายุชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้หยุดความคิดเห็นนี้ออกไปก่อน” แหล่งข่าวระบุ

ด้าน นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้นำแรงงานได้หารือร่วมกันและขอให้รมว.แรงงาน ทบทวนเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมจะขยายอายุเกษียณซึ่งทราบว่านายสุชาติ ได้สั่งการให้ทางประกันสังคม ยกเลิกในเรื่องออกไปก่อน ทั้งนี้ข้อห่วงใยเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม ที่มีการเปรียบเหมือนน้ำไหลออกนั้น แนวทางการแก้มีแนวทางอื่นๆ เช่นการขยายฐานเงินสมทบจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 หมื่นบาท อีกทั้งรายได้จากการนำเงินไปลงทุนที่ได้กำไรเป็น 2 หมื่นล้านบาท ก็เป็นเงินเพิ่มใส่ในกองทุนโดยไม่กระทบสิทธิของผู้ประกันตน.