น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 65 เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของโควิด-19 ทำให้คาดว่า ยังกระทบกับกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในปี 65 อาจทำกำไรได้เพียง 1.86 แสนล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้น 5% จากกำไรสุทธิของปี 64 ที่คาดไว้ที่ 1.78 แสนล้านบาท แต่ก็จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ในกรณีที่สามารถดูแลการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 65 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจแตกต่างจากปี 63-64 ที่สินเชื่อจะมาจากโครงการสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ รวมทั้งขณะนี้ลูกหนี้บางส่วนยังอยู่ในช่วงการพักหนี้ โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 65 จะขยายตัว 4.8% ในกรอบคาดการณ์ 4-5.5% ชะลอลงจากปี 64 ที่คาดว่าจะขยายตัว 6%

สำหรับสินเชื่อธุรกิจปี 65 อาจเติบโต 4.2-5.2% โดยมีแรงสนับสนุนจากการเบิกใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนสินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องและเพื่อการลงทุน ขณะที่สินเชื่อรายย่อยปี 65 อาจเติบโต 4-6% สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 64 ที่ 4% แต่การฟื้นตัวของสินเชื่อยังถูกกดดันด้วยภาระหนี้เดิมของครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการดูแลเพื่อสกัดความเสี่ยงจากโควิด-19 อาจส่งผลทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้อย่างเต็ม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถานการณ์ด้านรายได้และกระแสรายรับของภาคธุรกิจ ตลอดจนภาวะการมีงานทำของภาคครัวเรือน ให้ยังไม่กลับมาเป็นปกติเช่นกัน ทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลคาดว่าจะปิดสิ้นปี 64 ที่ 3.20% ต่อสินเชื่อรวม และเพิ่มขึ้นไปที่ 3.30% ต่อสินเชื่อรวมในปี 65 อาจมีกรอบ 3.20-3.50% ซึ่งอาจเป็นการขึ้นของเอ็นพีแอล เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน

“คงต้องติดตามสัญญาณไหลเข้าของหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ขนส่งทางอากาศ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่การฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของกำลังซื้อภายในประเทศ แต่เชื่อว่าธนาคารยังคงบริหารจัดการได้”

โดยยังคงต้องเตรียมรับมือและเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ในเชิงรุก ตั้งแต่ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยและทำการปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ช่วงจังหวะเวลาที่ในปี 65 ยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.อยู่ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์จะตั้งสำรองหนี้ในปี 65 ลดลงบ้าง เพราะได้ตั้งรับไว้สูงในปี 63-64 คาดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อจะอยู่ที่ 1.27% ชะลอลงจากปี 64 ที่ 1.4% แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.23% ในปี 61-62