เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงถึงนโยบายความปลอดภัย ในสถานศึกษา การปรับการจัดการเรียนรู้ทุกรูปแบบ (5 on) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ และการเตรียมความพร้อมที่จะเปิด On-Site ของทุกโรงเรียน อย่างปลอดภัย โดยความร่วมมือของ ศธ.กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน (Omicron)” เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ศธ. ได้เปิดโอกาสให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในพื้นที่แล้ว สำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ On-Site ทุกแห่ง ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้เด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งข้อมูลการวัคซีนโควิด-19 และการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. ณ วันที่ 8 มกราคม 2565 มีดังนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% เข็ม 2 แล้ว 78.11% ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% เข็ม 2 แล้ว 69.52% และขณะนี้รัฐบาลก็ได้ส่งเสริมให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 กันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการปิดประเทศ lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิด On-Site 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.09 และจากการที่ดิฉันได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาค สิ่งหนึ่งที่พบคือ สถานศึกษาได้มีการปรับตัวและกวดขันในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันเป็นอย่างดี

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อัตราการติดเชื้อในเด็กอาจเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่อัตราการป่วยและรุนแรงยังเท่าเดิม รวมถึงอัตราการเสียชีวิตยังคงที่ เพราะผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจาก7กลุ่มโรคเสี่ยงแลผู้สูงอายุ และยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ในเด็กเรายังไม่เจอว่าเด็กติดเชื้อแล้วเสียชีวิตแต่อย่างใด ส่วนเด็กวัยไหนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดนั้นเราพบว่า เด็กติดเชื้อเร็วแต่ความรุนแรงไม่มาก อีกทั้งการติดเชื้อรุนแรงในเด็กจะเกิดกับเด็กในกลุ่มโรคเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น ขณะที่เด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนแล้วกว่า 4 ล้านคน ซึ่งคิดว่าเด็กกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันรุนแรงของโรคได้ ส่วนเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปีได้เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไว้หมดแล้วระหว่างสธ.กับศธ. โดยเป็นโด๊สเฉพาะสำหรับเด็กเล็กกลุ่มนี้เราวางแผนปลายเดือนม.ค. ได้เริ่มฉีดได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน ส่วนการเรียนออนไซต์หรือการเรียนที่โรงเรียนปกตินั้นตนมองว่า เราได้มีการหารือร่วมกับทีมนักวิชาการจากสธ.และศธ.เห็นควรให้เปิดเรียน เพราะสถานศึกษาเป็นที่แห่งสุดท้ายที่ควรจะปิดหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้น เนื่องจากสถานที่อื่นๆยังเปิดได้ตามปกติ แต่เรากลับมานั่งปิดโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่สามารถทำตามมาตรการได้ดีกว่าสถานที่เสี่ยงอื่นๆ ดังนั้นตนหวังว่าหน่วยงานทีเกี่ยวข้องจะพิจารณาการเปิดสถานศึกษาได้ อย่างไรก็ตามเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ให้ได้ และที่สำคัญต้องสร้างเกราะป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค

ขณะที่ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี อยู่ในระบบการศึกษาของศธ. 5,200,000 ล้านคน ตนได้มอบให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ในการสำรวจกลุ่มเด็กจำนวนดังกล่าว ซึ่งข้อมูลล่าสุดมี 33 จังหวัดที่ผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน ประมาณ 71% ส่วนที่เหลือยังไม่ให้ความยินยอมในการฉีดวัคซีน แต่เราไม่กังวลเพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วเห็นเพื่อนไม่มีอาการข้างเคียงก็จะลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมภายหลังได้

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนการเรียนออนไลน์ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย โดยกำชับศธ.ดูแลการเรียนการสอนออนไลน์ให้ดีนั้น โดยนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งศธ.จะเข้าไปเติมให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ได้อย่างไร รวมถึงการเรียนออนไลน์อาจทำให้เด็กขาดปฎิสัมพันธ์การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ดังนั้นการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพคือครูผู้สอนต้องให้เด็กงดการเรียนผ่านจอให้น้อยที่สุด และฝึกปฏิบัติได้มากขึ้น สำหรับการเปิดเรียนออนไซต์สภาพความจริงไม่ได้แพร่ระบาดทุกพื้นที่ในจังหวัด แต่บางจังหวัดระบาดแค่ตัวอำเภอเท่านั้น สพฐ.มองว่าควรจะอนุมัติให้อำเภอหรือตำบลอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการระบาดเปิดเรียนได้ตามปกติ เพื่อโอกาสการเรียนรู้ของเด็กอย่างเต็มที่ ซึ่งตนไม่อยากให้ใช้กติกาเดียวทั้งจังหวัด แต่ควรพิจารณาในระดับอำเภอหรือตำบลด้วย โดยมอบหมายให้เขตพื้นที่ไปหารือกับ ศบค.จังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดแล้ว