เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายสมบัติ พิมพ์สอน ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะรองโฆษก พศ. กล่าวถึงกรณีการลงนะหน้าทองของพระครูสมุห์นพดล ปิยธมฺโม เจ้าอาวาสวัดศาลารี จ.นนทบุรี ที่ใช้ทองคำเปลวลงนะทั้งใบหน้า จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม โดยล่าสุดทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนนทบุรี (พศจ.นนทบุรี) ได้เข้าพบพระครูสมุห์นพดล เพื่อขอให้ปรับวิธีการ ขณะที่พระครูสมุห์นพดล ได้ขอยุติการทำพิธีลงนะนหน้าทอง ว่า การลงนะ เป็นเรื่องของความเชื่อ พระท่านทำให้ตามที่ญาติโยมร้องขอเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีโทษถึงขั้นต้องขาดจากความเป็นพระ เพราะไม่ได้เข้าข่ายการอวดอุตริมนุสธรรม ที่ตามพระธรรมวินัยระบุไว้ชัดว่า หากพระสงฆ์อวดอุตริมนุสธรรม เช่น อวดว่าตนบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน อวดว่าเป็นอริยบุคคล เป็นต้น จะถือว่าต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ แต่การลงนะ เปรียบได้กับโลกิยมนต์ เป็นเรื่องของทางโลก เช่นเดียวกับการเจิม เป็นการทำให้ญาติโยมสบายใจ ซึ่งหากจะพิจารณาโทษทางธรรมวินัย อาจจะเข้าข่ายอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มลหุกาบัติ หรือ อาบัติเบา ทั้งนี้การพิจารณาโทษทางพระธรรมวินัยต้องอยู่ในการพิจารณาของเจ้าคณะผู้ปกครองเท่านั้น

ศก.แย่คนหมดที่พึ่งแห่ลงนะหน้าทอง เสริมดวงชะตาหวังช่วยเรื่องทำกิน

รองโฆษก พศ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามจากกรณีดังกล่าว ทาง พศ.จึงเห็นว่า ควรจะมีการนำระเบียบ คำสั่ง กฎ ของมหาเถรสมาคม ที่เกี่ยวกับเรื่องในลักษณะดังกล่าวมาปรับปรุงใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยที่ผ่านมามีระเบียบ คำสั่ง กฎ มส. เช่น ประกาศห้ามไม่ให้ภิกษุเป็นหมอเสน่ห์ยาแฝดอาถรรพณ์ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พ.ศ. 2476 ระบุว่า ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติล่วงละเมิดเมื่อพิจารณาได้ความจริงให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะในท้องที่ที่เกิดอธิกรณ์ลงโทษให้สึกเสียแล้วรายงานตามลำดับ, ประกาศคณะสงฆ์ เรื่องห้ามภิกษุ สามเณร เรียกเงินค่าเวทมนตร์ และห้ามทดลองของขลัง พ.ศ. 2495, ประกาศคณะสงฆ์ ห้ามพระภิกษุสามเณรแสดงตนเป็นอาจารย์ บอกเลขสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบ พ.ศ. 2498 เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงาน และเสนอที่ประชุมมส.พิจารณาในเร็วๆ นี้