เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันแล้วปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีต่างๆหลายร้อยรายพบส่วนใหญ่มีข้อสังเกตอันควรสงสัยเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นไว้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยคราวนี้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 8 รายที่มีกรณีควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป ซึ่งในวันที่ 1 ก.พ. ตนเตรียมยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 8 ราย มีรายละเอียดดังนี้

1.นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีดำรงตำแหน่งทุกสามปี วันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยแสดงรายการยานพาหนะของตนเอง จำนวน 2 คัน ทะเบียนเลขที่ กว 2424 นนทบุรี และ ษค 2424 กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ ทะเบียนรถทั้ง 2 คัน เป็นเลขประมูลหรือไม่ ถ้าเป็น ต้องแจ้งมูลค่าทะเบียนรถด้วยหรือไม่

2.พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีดำรงตำแหน่งทุกสามปี วันที่ 1 ต.ค. 64 โดยแสดงรายการเงินสดของตนเองจำนวน 3,600,000 บาท และเงินสดของคู่สมรสจำนวน 10,000,000 บาท กรณีจึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ เงินสดจำนวนดังกล่าว ทำไมจึงไม่นำฝากธนาคาร และ ป.ป.ช. ได้มีการไปตรวจนับเงินสดตามที่แจ้งว่ามีอยู่จริง หรือไม่

3.นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีดำรงตำแหน่งทุกสามปี วันที่ 1ต.ค.64 โดยแสดงรายการสิทธิและสัมปทาน ลำดับที่ 1 คือ ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในนามของคู่สมรสจำนวน 3,000,000 บาท กรณีจึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สามารถนำมาแสดงในบัญชีทรัพย์สิน ได้หรือไม่

4.นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งวันที่ 1ต.ค.63 โดยแสดงรายการที่ดิน ลำดับที่ 10 คือ ตราจอง หมายเลข 616 ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 30 ตรว. มูลค่า 304,930 บาท กรณีจึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือตราจองดังกล่าว ถือเป็นเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือไม่ สามารถนำมาแสดงในบัญชีทรัพย์สิน ได้หรือไม่

5.นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการต่าง ๆ รวม 6 ตำแหน่ง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีดำรงตำแหน่งทุกสามปี วันที่ 30 ก.ย.64 โดยแสดงรายการทรัพย์สินอื่นเพียง 1 รายการ คือ พระพุทธรูปยืนสำริด มูลค่า 350,000 บาท แต่จากการตรวจสอบพบภาพข่าวนายวิรไท สันติประภพ ใส่นาฬิกาข้อมือในโอกาสต่าง ๆ กรณีจึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอื่นโดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของป.ป.ช. หรือไม่

6.นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งวันที่17ส.ค.64 โดยแสดงรายการทรัพย์สินอื่นรวม 3 รายการ คือ ลำดับที่ 1 พระพุทธรูป (ประเมินมูลค่าไม่ได้) จำนวน 86 องค์ ลำดับที่ 2 พระเครื่อง พระบูชา เหรียญพระ (ประเมินมูลค่าไม่ได้) จำนวน 217 องค์ ลำดับที่ 3 อาวุธปืน จำนวน 2 กระบอก จำนวนรวม 60,000 บาท กรณีจึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ การไม่แจ้งมูลค่า พระพุทธรูปจำนวน 86 องค์ และ พระเครื่อง พระบูชา เหรียญพระ จำนวน 217 องค์ นั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่

7.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งวันที่ 25พ.ค.62 โดยแสดงรายการยานพาหนะ เป็นรถยนต์จำนวน 15คัน พร้อมป้ายทะเบียน ราคารวม 55,820,677 บาท โดยหมายเหตุว่า ราคาซื้อ และแสดงรายการทรัพย์สินอื่น รวม 2 รายการ คือ ลำดับที่ 1 พระบรมรูปหล่อครึ่งพระองค์ทองแดง 26 นิ้ว มูลค่าขณะได้มา 900,000 บาท ลำดับที่ 2 ทะเบียนรถหมายเลข ษง 9999 มูลค่าขณะได้มา 4,000,000 บาท กรณีนี้จึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ การแจ้งมูลค่ารถยนต์ใน “ราคาซื้อ” ซึ่งหลายคันซื้อมานานเกินสิบปีแล้ว และเป็นราคาที่เคยแจ้งต่อ ป.ป.ช. แล้วเช่น กรณีที่ยื่นบัญชีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ดังนั้น การใช้ “ราคาซื้อ” แจ้งต่อ ป.ป.ช. โดยไม่คิดค่าเสื่อมราคา จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ และทำไมมีการแจ้งมูลค่าทะเบียนรถเพียงคันเดียวคือ ษง 9999 ทะเบียนรถคันอื่นที่เป็นเลขประมูลมีหรือไม่ และมีการแจ้งมูลค่าครบถ้วนหรือไม่

8.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งวันที่ 16 ก.ค.62 โดยแสดงรายการทรัพย์สินอื่นรวม 3 รายการ คือ ลำดับที่ 1 เครื่องประดับมูลค่า 150,000 บาท ลำดับที่ 2 ปืน (ใบอนุญาต) มูลค่า 115,000 บาท ลำดับที่ 3 เครื่องประดับ มูลค่า 120,000 บาท โดยทั้ง 3 รายการ เป็นของเดิมที่เคยยื่นไว้แล้ว เช่น กรณีรับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2551 แต่จากการตรวจสอบพบภาพข่าวนายนิพนธ์ และคู่สมรส ใส่นาฬิกาข้อมือในโอกาสต่าง ๆ จึงมีข้อสังเกตที่ควรตรวจสอบคือ มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอื่นโดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่.