วันที่ 17 ก.ค. ก็เป็นวันที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยว่า การติดเชื้อโควิดเข้าขั้นรุนแรงจนมีผู้ติดเชื้อวันเดียวทะลุหมื่นราย และเสียชีวิตวันเดียวเกินร้อยรายเป็นวันแรก และจะมีการยกระดับมาตรการควบคุมโรคที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานไปถึงเมื่อไรแต่ต้องให้จำนวนผู้ติดลดต่ำกว่าพันให้ได้ ศบค.ก็ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยจะสรุปญัตติในช่วงกลางเดือน ส.ค.และยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะอภิปรายได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ก่อนที่จะมีการปิดสมัยประชุมสภา โดยเนื้อหาคร่าวๆ จะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และมีเรื่องอื่นๆ พ่วงมาซึ่งยังไม่บอกโจทย์

เที่ยวนี้ “ข่าวว่า” ทางวิปฝ่ายค้านมั่นใจมาก ว่า แทบไม่ต้องหาหลักฐานโกงอะไรเลย แค่การบริหารงานที่ผิดพลาดก็พอ วัคซีนได้ล่าช้า วัคซีนตัวที่สั่งมาเป็นวัคซีนหลักก็ใช้กระตุ้นภูมิได้ไม่ดีพอ ป้องกันตัวเดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ซึ่งจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในเมืองไทยแทบไม่ได้ วัคซีนแอสตราเซเนกาก็ส่งมอบล่าช้ากว่าที่กำหนด

วัคซีน mRNA ที่เขาเชียร์กันให้รัฐบาลรีบนำเข้าก็ล่าช้า เพราะเรา “ตกขบวน” ที่จะเข้าโครงการโคแวกซ์ หรือไม่ไปจองตั้งแต่ในช่วงที่มีการทดลองเพราะอ้างว่าไม่อยากเสี่ยง เอาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเดิมคือเชื้อตายชัวร์กว่า พอถึงวันนี้ ความต้องการซื้อวัคซีนมันล้น ทำให้ไทยเราหาซื้อตัว mRNA ได้ล่าช้าเข้าไปอีก

เรื่องเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจก็มีปัญหา ..เรียกง่ายๆ ว่า แค่ฝ่ายค้านนำข้อมูลการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลมากาง ประชาชนแทบไม่ต้องตะลึงกับข้อมูลใหม่ แต่รอฟังทางรัฐบาลตอบ โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะกำกับดูแล ศบค. และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ตอบ

มีคนถามว่า “อภิปรายเที่ยวนี้จะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่?” ก็ต้องดูกระแสสังคม ดูการเดินเกมล็อบบี้ของฝ่ายค้านให้เสียง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลโหวตไม่ไว้วางใจ หรืองดลงมติให้ได้มากกว่าเสียงไว้วางใจ เมื่อนั้น จะต้องมีการแสดง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ตามมา คือนายกฯ ลาออกหรือไม่ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่

แต่หลักของการเมือง “พรรครัฐบาลไม่มีทางยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตราบใดที่ยังไม่มั่นใจว่าจะกลับมาตั้งรัฐบาลได้” ตัวแปรหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการแบ่งบัตรเลือกตั้งเป็นสองแบบ และกำหนดจำนวน ส.ส.ใหม่เป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ขณะนี้มีผู้สงวนคำแปรญัตติ 40 ญัตติ รอเข้าวาระสอง

ถ้ามีการเพิ่ม ส.ส.เขต ก็มีโอกาสที่จะเป็นผลดีต่อขั้วรัฐบาล ณ ขณะนี้ เพราะ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครต่างก็ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทำคะแนนนิยมมาเรื่อยๆ มันก็มีโอกาสที่แม้ว่าชื่อของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคภูมิใจไทย อาจโดนเสียงยี้ไปบ้างจากกระแสเรื่องการจัดการโควิด แต่ถ้าว่าที่ผู้สมัครทำผลงานดี ก็อาจได้ ส.ส.เขต

ตัวอย่างเช่น นายกฤษ ศรีฟ้า อดีต ส.ส.พังงา พรรคไทยรักไทย ที่เจาะยางประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้สำเร็จเขตเดียว เพราะทำผลงานเรื่องการช่วยเหลือประชาชนจากเหตุภัยพิบัติสึนามิได้ดี ดังนั้น ก็จะต้องเดินเกมแบบ “ถึงไม่เลือกพรรคก็เลือกคน” ปาร์ตี้ลิสต์ชื่ออาจไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ แต่ผู้สมัครเขตหากทำงานดีก็มีโอกาสชนะ

“ตัวใหญ่” ในพรรคก็อาจเพลย์เซฟไปลงเป็น ส.ส.เขตแทน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ถ้าเป็นรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส.ไม่ได้ เรื่องเพิ่ม ส.ส.เขตจึงอาจเป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจของการ “กลับมา” ของพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงนี้ เอามาทดแทนปาร์ตี้ลิสต์ที่กระแส “ยี้พรรค”อาจทำให้ได้จำนวน ส.ส.ตรงนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

นาทีนี้ต้องวัดใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากศึกซักฟอกและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.