เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง สภาล่ม โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง อาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพลสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคล/กลุ่ม ที่ควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สภาล่ม ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 43.44 ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 42.37 ระบุว่า รัฐบาล ร้อยละ 37.94 ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน ร้อยละ 32.60 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 14.66 ระบุว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 12.60 ระบุว่า ประธานวิปรัฐบาล นายนิโรธ สุนทรเลขา ร้อยละ 11.83 ระบุว่า ประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง ร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ และร้อยละ 7.10 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ  

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาล่ม ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 49.85 ระบุว่า เป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 31.98 ระบุว่า มี ส.ส. จำนวนหนึ่ง ไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา ร้อยละ 16.03 ระบุว่า วิปรัฐบาล ไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 11.91 ระบุว่า มี ส.ส. จำนวนหนึ่ง ขี้เกียจสันหลังยาว ร้อยละ 8.17 ระบุว่า รัฐบาลต้องการเตะถ่วงกฎหมาย ร้อยละ 4.89 ระบุว่า วาระการประชุมไม่ดึงดูดใจให้เข้าประชุม ร้อยละ 4.35 ระบุว่า วิปฝ่ายค้านไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 2.82 ระบุว่า สภาล่มเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิด และร้อยละ 2.29 ระบุว่า ส.ส. จำนวนหนึ่งมีภาระหน้าที่อื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อวิธีแก้ไขปัญหาเหตุการณ์สภาล่ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า ร้อยละ 30.15 ระบุว่า ลงโทษตัดเงินเดือน สวัสดิการ ส.ส. ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น รองลงมา ร้อยละ 22.82 ระบุว่า ลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส. ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น ร้อยละ 22.29 ระบุว่า ลงโทษไล่ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในกรณีที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น ร้อยละ 17.71 ระบุว่า ลงโทษปรับเงิน ส.ส. ทุกครั้งที่ไม่เข้าร่วมประชุม ร้อยละ 16.03 ระบุว่า ลงโทษประจานชื่อผู้ขาดประชุมสภาต่อสาธารณะ ร้อยละ 14.20 ระบุว่า ลงโทษยุบพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ขาดประชุมสภา เกินกว่าที่กำหนด ร้อยละ 12.60 ระบุว่า ไม่มีวิธีใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และร้อยละ 2.98 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.