ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าภายหลังกรมอนามัยออกมาเตือนเรื่องวิกฤติเด็กเกิดน้อย รัฐต้องถือเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะเรื่องปรับโครงสร้างประชากรต้องดำเนินโครงการต่อเนื่อง 10-20 ปีนั้น

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียดแนวทางรักษาโรคมีบุตรยาก เพื่อส่งเสริมการเกิดในประเทศไทย แก้วิกฤติเด็กไทยเกิดน้อย ว่าตอนนี้กรรมการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องชุดสิทธิประโยชน์การรักษาโรคมีบุตรยาก ซึ่งมีตั้งแต่ขั้นตอนง่ายๆ ไปจนถึงขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยมีความสัมพันธ์กับเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาการรักษาผู้มีบุตรยาก 100 คน จะสำเร็จประมาณ 30 คน ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาท

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

ด้าน รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การรักษาโรคมีบุตรยากอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดเพราะคนที่มีปัญหานี้มีประมาณ 10-15% เท่านั้น ขณะที่ค่ารักษาโรคมีบุตรยากนั้นบางอย่างค่ารักษาไม่สูง เช่น การให้ยากระตุ้นการตกไข่ การฉีดอสุจิผสมเทียม เป็นต้น แต่หากใช้เทคโนโลยีระดับสูงเช่นเด็กหลอดแก้ว จะมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% อีกทั้งสถานพยาบาลที่ทำเด็กหลอดแก้วมีน้อย ส่วนใหญ่กระจุกตัวในกทม. และจังหวัดใหญ่เท่านั้น ที่สำคัญคือ 90% เป็นสถานพยาบาลเอกชน จึงต้องทบทวนว่าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นตามอายุของผู้หญิงที่เข้ามารับการรักษา ตรงกันข้ามอัตราความสำเร็จจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย

“ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี โอกาสสำเร็จมากกว่า 50% แต่หากอายุ 40 ปี โอกาสสำเร็จไม่ถึง 5-10% ดังนั้นต้องคำนวณว่าการได้เด็ก 1 คน จากการทำเด็กหลอดแก้วนั้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งในประเทศอิสราเอลมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว 1 คน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท แล้วประเทศไทยต้องถามว่า เราต้องการเด็กหลอดแก้วจำนวนเท่าไหร่ที่จะเพียงพอต่อการเพิ่มอัตราการเกิด ดังนั้นต้องมีการคิดอย่างรอบคอบ เพราะเป็นการลงทุนที่สูง ที่สำคัญคือเข้าได้กับบริบทของประเทศไทยหรือไม่”

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์

“ต้องมามองว่าปัญหาจริงๆ ของการเกิดน้อยในประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน แต่ปัญหาที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือเรื่องค่านิยมที่ไม่อยากมีลูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหามีลูกยากดังนั้นหากต้องการให้เกิดพลัง และสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมาดูว่าคนเหล่านี้ไม่พร้อมมีลูกเพราะอะไร แล้วเข้าไปให้การส่งเสริม ช่วยเหลือ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเกิดในประเทศไทยได้ ส่วนการมีลูกยากเป็นเพราะว่าไม่พร้อมจะมีลูกในวัยที่สมควร เช่น วัย 20-30 ปี ที่เป็นวัยที่มีความพร้อมทางด้านร่างกายมากที่สุด แต่กว่าจะพร้อมมีลูกจริงๆ เมื่ออายุ 39-40 ปี ขึ้นไป จึงเป็นปัญหาสะสมเรื้อรัง” รศ.นพ.สุภักดี กล่าว

รศ.นพ.สุภักดี เสนอว่าต้องปรับค่านิยมให้เริ่มคิดมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในวัยที่เหมาะสม 30 ปีต้นๆ ขณะเดียวกันภาครัฐ และเอกชนต้องสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ พร้อมจะมีลูกในวัยเหมาะสม เช่น 1. สร้างสถานเลี้ยงเด็กให้เพียงพอ และมีคุณภาพ ไว้ใจได้ 2. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งของใช้เด็กปัจจุบันมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะเป็นนม เสื้อผาเด็กอ่อน และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้หากมีการสนับสนุน เช่น นโยบายคนละครึ่ง ค่านมคนละครึ่ง ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปคนละครึ่ง ของใช้เด็กอ่อนคนละครึ่ง เพื่อแบ่งบาภาระทำให้คน อยากจะมีลูกมากขึ้น 3.จูงใจด้วยนโยบายลด หรือละเว้นภาษีสำหรับคนที่มีลูกในช่วงอายุที่เหมาะสมหรือมีสิทธิพิเศษสำหรับคนมีลูกเล็ก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายโรงเรียนอนุบาลเอกชนแพงมาก หากมีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้คนไม่ต้องเสียเงินพาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนราคาแพง.