วันที่ 15 ก.พ. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่าจากการที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงปัญหาเสือโคร่งถูกล่า และกำชับเร่งเก็บกู้ บ่วงแร้วดักเสือ และสัตว์ป่าอื่นๆ พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน และหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีถึงที่สุด นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งให้ดำเนินการผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการล่าสัตว์ป่าและทำลายป่าไม้อย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้เข้ามาแจ้งความกล่าวโทษดำเนินคดีที่ สภ.ปิล็อก จ.กาญจนบุรี กับผู้ขุดหลุมวางแร้วบ่วงสลิงดักจับเสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นแล้ว ที่ได้ตรวจพบเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ในบริเวณป่าห้วยปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จำนวน 10 หลุม โดยได้แจ้งความดำเนิน ตามมาตรา19(2) ประกอบมาตรา 42 ในข้อหากระทำการใดๆ โดยการขุดหลุมวางแร้ว ทำให้เป็นอันตราย หรือให้เสื่อมสภาพซึ่งดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โดยมิได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ สำหรับอุปกรณ์บ่วงเชือกสลิง (แร้ว) ได้ถูกเก็บกู้ไปหมดแล้วประมาณ 1 เดือน ขณะตรวจสอบหลุมวางแร้วดักสัตว์ป่าดังกล่าว ไม่พบผู้ใดอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ

เนื่องจากบริเวณขุดหลุมแร้วดักสัตว์ป่าจำนวน 10 หลุม อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่ นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ ผู้ต้องหากับพวก ทั้ง 5 คนไปล่า หรือฆ่าเสือโคร่ง ทั้ง 2 ตัว จึงขอให้ ร.ต.อ.สองนคร เครือแสง พนักงานสอบสวน สภ.ปิล็อก ทำการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมว่า นายรัชชานนท์ เจริญทรัพย์ ผู้ต้องหาและพวกรวม 5 คน มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็น ในการขุดหลุม วางแร้วดักจับเสือโคร่ง หรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ นายสิขกพงษ์ วังกระจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า เป็นผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา กรณีเสือโคร่งพิการ 3 ขา ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยมี นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือ เพื่อกำหนดมาตรการวางแผน ปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ผลสรุปได้ดังนี้

1.สนธิกำลังเพิ่มชุดลาดตระเวน อย่างเข้มข้น เพื่อค้นหาหลุมวางกับดัก หรือบ่วงแร้ว บริเวณแนวรอบหมู่บ้านปิล็อกคี่ รัศมีอย่างน้อย 7-10 กิโลเมตร 2.ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าเพิ่มเติมจากจำนวน 20 จุด เป็น 2 เท่า เพื่อติดตามจำนวนประชากรเสือโคร่งว่ามีจำนวนกี่ตัว และติดตามพฤติกรรม หรือที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งพิการ 3 ขา ตัวดังกล่าว ว่าอยู่บริเวณใดบ้าง การหากินเป็นอย่างไร 3.นำข้อมูลที่ได้จากการติดตั้ง กล้องดักถ่ายสัตว์ป่ามาวิเคราะห์ และประเมิน เพื่อที่จะดำเนินการวางแผนต่อไป 4.การลาดตระเวน เมื่อพบหลักฐานการกระทำความผิด ให้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษทันที เช่น ถ้ามีการลาดตระเวนพบหลุมวางกับดักหรือบ่วงแร้ว ให้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดี หาตัวผู้กระทำผิด 5.สนับสนุนหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ (ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่ง) เข้าร่วมสำรวจพื้นที่ วิเคราะห์ และสังเกตพฤติกรรมของเสือโคร่ง สร้างความเข้าใจ และให้คำแนะนำกับชาวบ้าน ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านการอนุรักษ์ เช่น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มูลนิธิฟรีแลนด์ และองค์กรแพนเทอร่า.