เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ร่วมประชุมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ย้ำให้ดำเนินการตามมาตรการเดิม โดยเฉพาะ 6-6-7 เพื่อลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษา ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด, 6 มาตรการเสริม ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง ส่วนแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา 1.ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง 2.Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.อาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน 7.School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ได้รับวัคซีนจำนวนมากที่สุดอย่างน้อย 85% เพราะต้องยอมรับว่ามีการระบาดเป็นคลัสเตอร์เกิดขึ้นในโรงเรียนแล้ว ดังนั้น ศธ.จึงต้องดำเนินการมาตรการให้เข้มข้น แต่ในส่วนของโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีนักเรียนติดเชื้อยังปฏิบัติตามมาตรการของ ศธ.ได้อย่างดีเยี่ยม 

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2565 นั้น ที่ประชุม ศบค. อนุมัติให้นักเรียนที่มาสมัครสอบเข้า ม.1 หากติดเชื้อโควิด สามารถมาเข้าสอบได้ แต่จะต้องแจ้งให้โรงเรียนปลายทางที่ตัวเองสมัครเรียนรับทราบ โดยโรงเรียนจะจัดสถานที่ที่เป็นห้องสอบแบบเปิด อากาศถ่ายเทได้สะดวก เฉพาะพื้นที่พิเศษให้ พร้อมกับเจ้าหน้าที่คุมสอบจะสวมชุด PPE ป้องกันอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้เด็กเสียสิทธิในการเข้าเรียนต่อ ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ในการสอบกับระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ด้วย โดย รมว.อว. รับทราบ และจะนำไปปฏิบัติตามมาตรการแล้ว