การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปิดสถานศึกษา และเน้นจัดการเรียนการสอนออนไลน์เป็นหลัก ขณะที่นักเรียนจำนวนมากก็มีข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการขาดอุปกรณ์ ขาดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา
      

รร.บ้านหุบบอน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาที่ยังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติได้ จึงนำไปสู่การคิดค้น นวัตกรรม “CORONA Model” เพื่อจัดการศึกษาตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยึดหลักในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน มีโรงเรียนเป็นผู้พัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ช่วยแก้ปัญหา ส่งเสริมและแก้ไข ประสานผู้ปกครองเป็นผู้ช่วยครู และเป็นที่ปรึกษา (Coaching) ทั้งนำชุมชนและภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน (Community) จัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในขณะที่นักเรียนไม่ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนทุกระดับให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่นักเรียนจะต้องเรียนอยู่ที่บ้านเป็นหลัก  
       

นายธีระยุทธ แสงสุริยจันทร

นายธีระยุทธ แสงสุริยจันทร ผอ.รร.บ้านหุบบอน บอกว่า การจัดทำแนวทางการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้ นวัตกรรม CORONA Model เริ่มต้นจากวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน จากนั้นประชุมวางแผนดำเนินงาน และพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการกำหนดใช้องค์ประกอบ C-O-R-O-N-A มาประยุกต์ในการดำเนินงาน ดังนี้

C : Community หมายถึง การสำรวจความพร้อมของนักเรียนในพื้นที่แล้วนำมาวางแผนดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนสำหรับการจัดการศึกษาให้กับนักเรียนในสถานการณ์ปัจจุบัน

O : Opportunity หมายถึง นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจชุมชนมาศึกษาวิเคราะห์ และสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน เพื่อประเมินความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนอย่างทั่วถึง โดยครูจัดทำโครงสร้างหน่วยการจัดการเรียนรู้ นำตัวชี้วัดเฉพาะที่จำเป็นมาจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของโรงเรียนให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม มีการจัดทำกระเป๋าการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งประกอบด้วย ตารางการเรียนการสอน คู่มือนักเรียน คู่มือผู้ปกครอง แนวทางการดูแลตนเองในสถานการณ์ปัจจุบัน และภาระงานตามความเหมาะสม ดำเนินการจัดทำกลุ่มไลน์ระดับชั้น หรือ รูปแบบ Line Open Chat และช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยมีครูประจำชั้นและครูประจำวิชาเป็นผู้ประสานงานแต่ละวัน

R : Reaction หมายถึง การดำเนินการ ติดตามปฏิกิริยาทางการเรียนรู้ของนักเรียน ว่านักเรียนมีพัฒนาการในการเรียน และความสนใจในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาข้อมูลมาปรับปรุง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือหากมีปัญหาและอุปสรรคระหว่างการเรียน โดยครูประจำชั้นหรือครูผู้สอนวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขในแต่ละสัปดาห์ เป็นรายห้องเรียน หรือระดับช่วงชั้น 

O : Organizing หมายถึง ใช้ภาคีเครือข่ายสร้างองค์กรแห่งความร่วมมือ เพื่อร่วมกันจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการระดมทรัพยากรทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่สามารถช่วยเหลือทางโรงเรียนในการร่วมกันจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมาย

N : Need Based หมายถึง การนำข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการในการจัดการเรียนการสอนมาศึกษาและทำการวิเคราะห์เพื่อจัดทำเครื่องมือการทดสอบ วัด และประเมินผลให้สอดคล้องกับนักเรียน ตามสภาพบริบทและความจำเป็น

และ A : Assessment หมายถึง การวัดและประเมินผล การทดสอบ การนิเทศการจัดการเรียนการสอน ติดตาม และสรุปผล โดยใช้รูปแบบการนิเทศการศึกษาร่วมพัฒนา จัดให้มีสมุดบันทึกผลการปฏิบัติงาน การรายงานผลการเข้าเรียน การให้คะแนน ผ่านระบบสารสนเทศ Q-check และQ-info ของโรงเรียนแต่ละสัปดาห์ และเดือน จัดทำแบบสอบถามวัดความเห็นในการจัดการเรียนการสอนต่อผู้เกี่ยวข้องผ่านระบบสารสนเทศ ตลอดจนการให้ขวัญและกำลังใจแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านเกณฑ์การนิเทศการจัดการเรียนรู้ตามที่กำหนดในสถานการณ์ปัจจุบัน

จากผลจากการดำเนินด้วย นวัตกรรม “CORONA Model” ของ รร.บ้านหุบบอน ส่งผลให้นักเรียนได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง ทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้ รร.บ้านหุบบอน ได้รับการคัดเลือกให้รับการตรวจราชการ และนำเสนอผลงานในการประชุมส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ด้วยนวัตกรรมการนิเทศทางไกล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ด้วย