“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานสถานการณ์เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ก่อนดีดตัวกลับช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติและการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งหนุนเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายทำกำไร หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)สอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่กรอบ 0.25-0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องใน 6 รอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ กรอบการแข็งค่าของเงินบาทจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดรอติดตามวิกฤติยูเครนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (18 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 14-18 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 1.11 หมื่นล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW เงินทุนไหลออกในตลาดพันธบัตร 8.37 พันล้านบาท (ขายสุทธิ 6.12 พันล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2.25 พันล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขส่งออกไทยเดือนก.พ. และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ. ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ดัชนี PMI เดือน มี.ค. (เบื้องต้น) ของอังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของอังกฤษ