เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงโควิด-19 การติดเชื้อซ้ำว่า พบได้เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคหวัด RSV ไข้หวัดใหญ่

การระบาดในอิตาลี ระลอกแรก ในปี 2020 มีการติดตามผู้ที่ติดเชื้อแล้ว 1,579 คน เวลาเฉลี่ย 280 วัน พบติดเชื้อซ้ำ 5 คน ซึ่งในช่วงนั้นก็ไม่ได้มีการระบาดมากเท่าสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์มาตลอด และติดง่ายขึ้น โอกาสติดเชื้อซ้ำจึงมากขึ้นอีก

การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นระดับหนึ่ง และเมื่อภูมิต้านทานลดลงก็จะติดเชื้อซ้ำ การติดเชื้อครั้งซ้ำหรือครั้งที่ 2  อาการจะลดลงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อครั้งที่ 3 และ 4 ต่อไป อีกอาการจะยิ่งลดลง ยกตัวอย่างเช่นเดียวกับ RSV ที่เป็นครั้งแรก อาการจะมากที่สุด และครั้งต่อๆ ไปอาการจะลดลง เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น การติดเชื้อจะเป็นแบบไม่มีอาการ

เช่นเดียวกันการฉีดวัคซีนทำให้มีภูมิต้านทานส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะต่อหนามแหลม หรือสไปรท์ และเมื่อภูมิต้านทานลดลงก็มีโอกาสติดเชื้อได้อีก จึงต้องมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 เมื่อมีภูมิต้านทานขึ้นแล้วถึงแม้จะติดเชื้อ อาการก็จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน หรือไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ