เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เป็นประธานกล่าวเปิด พร้อมด้วย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และคณะทีมนักวิจัยเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านแผ่นดินไหว พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในวันนี้ วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมมีการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ และริเริ่มแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ในปี 2566 ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) โดยมี “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand)” ที่มี ศ.ดร.เป็นหนึ่ง เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ด้านแผ่นดินไหวของประเทศไทย ที่จะให้ข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิด และลดความสูญเสีย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

ทางด้าน ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เม.ย.66 เป็น ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว สนับสนุนการดำเนินงาน โดย วช. เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมด้วย รศ.ดร. สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าคณะสำรวจ และคณะทีมนักวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น นำทีมสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 เวลา 16:10 น. (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) ในคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ทีมสำรวจได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรง เช่น อุจินาดะ (Uchinada) วาจิมะ (Wajima) อานามิซุ (Anamizu) ซูซุ (Suzu) โนโตะ (Noto) มอนเซ็น (Monzen) และ โทกิ (Togi) แม้ว่าเวลาผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังคงอยู่ประเทศไทย จึงควรศึกษาและเตรียมแผนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่ รศ.ดร.สุทัศน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งฮวาเหลียน ไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 ที่มีขนาด 7.4 แมกนิจูด ลึก 11 กิโลเมตร รวมถึงเกาะโอกินาวาญี่ปุ่น เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 ขนาด 6.0 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งเมืองฟุกุชิมะ ลึกลงไปราว 40 กิโลเมตร โดยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้ถึงกรุงโตเกียว และถูกจัดให้อยู่ในความรุนแรงระดับ 4 จากมาตรวัดของญี่ปุ่นที่มี 7 ระดับ จากเส้นทางการสำรวจพบว่าเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยการสำรวจความเสียหายนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสร้างมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที

สำหรับ กิจกรรมภายในงานเป็นการเสวนาให้หัวข้อต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว ดังนี้ “ข้อมูลพื้นฐานของ แผ่นดินไหว Noto Seismological Data และ Tectonic Data” โดย รศ.ดร. ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “การตรวจวัดแผ่นดินไหว คลื่นแผ่นดินไหว Strong Motion Data” โดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล “ผลกระทบและบทเรียนสึนามิ” โดย รศ.ดร.อนวัช สรรพศรี จาก มหาวิทยาลัยโทโฮคุ และนายณัฐพล ธรรมิกบวร จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

“ผลกระทบและบทเรียน Landslide การเกิดดินเหลว” โดย ดร.วีรเดช ธนพลังกร จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผลกระทบและบทเรียน โครงสร้างและสิ่งก่อสร้าง” โดย ผศ.ดร.วงศา วรารักษ์สัจจะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี “การจัดการหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว” โดย นายอำพัน เหล่าสุนทร นักวิจัย จาก Tokyo Institute of Technology

ทั้งนี้ วช. อยู่ระหว่างดำเนินการสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะช่วยให้สามารถศึกษาวิจัย ในระดับที่ทัดเทียมกับนานาชาติ รวบรวมองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป็นเวทีในการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดสำหรับการนำบทเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และ เตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวในอนาคต