เมื่อวันที่ 25 ก.ค.  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวการฉีดวัคซีนบู๊สเตอร์โดส หรือเข็ม 3 ให้กลุ่มประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ว่า ในช่วงที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ขณะนั้นเป็นการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ซึ่งข้อมูลพบว่าวัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพดี แต่เมื่อมาเจอสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ดูเหมือนภูมิต้านทานโรคจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมดไปทีเดียว ที่สำคัญคือยังลดอัตราการป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเกิดขึ้นในทุกวัคซีน หลายประเทศก็พบปัญหานี้ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อิสราเอล รวมถึงทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันเรื่องการฉีดบู๊สเตอร์โดส แต่มีประเด็นพิจารณาคือ 1.บูสเตอร์ด้วยวัคซีนอะไร 2.เมื่อไหร่ ซึ่งต้องรอข้อมูลวิชาการ แต่จะต่างกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ต้องเจอผู้ป่วยทุกวัน มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องบูสเตอร์ให้ก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย โดยขณะนี้มีการบู๊สเตอร์ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเจาะเลือดตรวจแล็บพบว่าภูมิต้านทานขึ้นสูงมาก ค่อนข้างดี ค่อนข้างมั่นใจ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์เรายังไม่มีข้อมูลว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วตามด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ภูมิฯ ผลจะออกมาเป้นอย่างไร ต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง

ส่วนประชาชนทั่วไปที่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วนั้น ขอชี้แจงว่า เนื่องจากตอนนี้เรายังมีประชาชนอีกมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จึงต้องบริหารในส่วนนี้ด้วย ดังนั้น แนวโน้มสำหรับประชาชนทั่วไปก็จะบูสเตอร์แน่นอน แต่จะเมื่อไหร่ก็ขอให้รอข้อมูลก่อน ส่วนตัวคิดว่าเข็มที่ 3 ก็คาดว่าอาจเป็นไตรมาสที่ 4 ที่เรามีวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว และประชาชนกลุ่มอื่นก็น่าจะได้วัคซีนเข็มที่ 1 มากเพียงพอแล้ว จริงๆ ตอนนี้คนต่างจังหวัดเสียสละให้คนกรุงเทพฯ มาก ทำให้กรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนได้กว่า 50-60% โดยจากข้อมูลการฉีดวัคซีนแล้ว 15 ล้านโดส เป็นคนกรุงเทพฯ เกือบ 6 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวน เป็นไปตามเป้าหมายที่เราจะฉีดอย่างน้อย 5 ล้านคนภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค. ส่วนกลุ่มสูงอายุก็ฉีดได้ 70% แล้ว คาดว่า สัปดาห์นี้ก็จะฉีดได้ถึง 80% ตามเป้าหมาย ปัญหาที่พบการติดเชื้อในครอบครัวตอนนี้ส่วนหนึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่วัคซีนก็ไม่ได้ป้องกันได้ 100 % แต่ละคนความรุนแรงได้ ทั้งนี้การควบคุมโรคต้องใช้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลคนร่วมด้วย  หยุดอยู่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย แยกรับประทานอาหาร โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ และคนมีโรคประจำตัวต้องระวัง ซึ่งต้องปฏิบัติตัวเข้มงวดต่อไปอีก 1-2 เดือน

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประชาชนในต่างจังหวัด ต้องเร่งฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 608 คือ กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค บวกกับหญิงตั้งครรภ์ สัปดาห์หน้าจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) นำกลุ่มเป้าหมายมาฉีดวัคซีนให้ได้ เพื่อให้เป้าหมายได้รับอย่างครบถ้วน รวมถึงขณะนี้เราได้วัคซีนค่อนข้างตามแผน แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ  เช่น วัคซีนแอสตร้าฯ ก็มีความชัดเจนเบื้องต้นว่า จะส่งมอบวัคซีนให้เราเดือนละ 5-6 ล้านโดสและเปิดช่องให้เราได้เจรจาต่อเพื่อให้ได้จำนวนที่มากขึ้น เราก็พยายามเจรจาต่อเนื่อง.