เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายแนวปฏิบัติการบริหารงานบุคคล โดยให้ความสำคัญในการบริหารงานให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมให้ยึดนโยบายเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริตและการไม่เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการครู และบุคลากรทางการศึกษานั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตนได้รับข้อสั่งการจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.ให้รับผิดชอบเดินหน้าการประชุมปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2565 ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่ง สพฐ.ต้องการให้เกิดการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องการทุจริตว่าจะส่งผลเสียอย่างไร รวมถึงขยายผลสร้างจิตสำนึกไปถึงนักเรียนด้วย

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างสพฐ.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยจะอยู่ในรูปแบบโรงเรียนสุจริตและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต พร้อมกับการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามาบูรณการในการเรียนแบบ Active Learning หรือการเรียนรู้แบบลงมือปฎิบัติ ให้แก่นักเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดคุณลักษณะ 5 ด้าน คือ การบวนการคิด  มีวินัย  ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และมีจิตสาธารณะ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวจะทำให้เราผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพที่มีความซื่อสัตย์สุจริตมาร่วมพัฒนาประเทศในอนาคต