ตองกา ประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 169 เกาะ ซึ่งมีพื้นที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร  ตองกา เป็นหนึ่งใน 21 ประเทศที่มีความสนใจที่จะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาการลดการพึ่งพาสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ 

เมื่อไม่นานมานี้ ได้ปรากฏภาพข่าวในสื่อออนไลน์ของตองกา (https://morditongatrust.wordpress.com/2021/05/19/royal-visit-signals-support-in-sustainable-development-based-on-sufficiency-economy/?fbclid=IwAR0c2IYXvzdy7bODU24nOmJib3T73YSGeA7cYa9Hielp49DGeVC7lmpH8fY)

เกี่ยวกับสำนักพระราชวังตองกา ร่วมกับกระทรวงเกษตร อาหาร ป่าไม้ และประมงตองกา น้อมนำแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปพัฒนาใช้ในชุมชนอื่น ๆ ของตองกา ภายใต้โครงการ Royal Estate Agriculture Development Initiative “API KO FATAI’ Royal Estate –Vava’u Island”  โดยโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร การดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในตองกา ระยะเวลาโครงการนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – พฤศจิกายน 2568 โดยมีประชาชนที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ใน Mataika 100 คน (19 ครัวเรือน) และใน Feletoa 87 คน (18 ครัวเรือน)

นอกจากนี้ ในสื่อดังกล่าวได้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 สมเด็จพระราชินีแห่งตองกา (Her Majesty Nanasipau’u) เสด็จเยือนสำนักงานใหญ่ของกระทรวงเกษตร อาหาร ป่าไม้ และประมงตองกา พร้อมด้วยบรรดาสตรีและสมาชิกในชุมชน การเยือนครั้งนี้ถือว่า เป็นสัญญาณในการสนับสนุนให้กระทรวงเกษตร อาหาร ป่าไม้ และประมงตองกา สามารถนำแนวทางการพัฒนารูปแบบใหม่ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชุมชนต่าง ๆ ในตองกา อย่างราบรื่นขึ้น

หากมองย้อนกับไปที่จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานโครงการนี้ จะพบว่า รัฐบาลไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับสำนักพระราชวังตองกา ดำเนินโครงการความร่วมมือไทย – ตองกาเพื่อพัฒนาแปลงเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ของสำนักพระราชวังตองกา (the Agricultural Development Cooperation Project based on the Philosophy of Sufficiency Economy Project between the Kingdom of Tonga and the Kingdom of Thailand)  ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยสนับสนุนรัฐบาลตองกา ที่ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายไทยในการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ของสำนักพระราชวังตองกา โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อจัดตั้งแปลงสาธิตการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชาวตองกาได้ศึกษาและประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตร และเพื่อให้เป็นรูปแบบการพัฒนาระดับชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชาธิบดีทูโพที่ 6 กษัตริย์ตองกา ที่ทรงมองไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับตองกา อีกทั้งมีพระราชประสงค์จะมีโครงการเกษตรต้นแบบเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนตองกา ให้ตองกาลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (พ.ศ 2559 – 2562)

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมามีความสำเร็จและหลักปฏิบัติที่ดี คือ

        1. มีศูนย์เรียนรู้และแปลงสาธิตการทำการเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืนตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ของสำนักพระราชวังตองกา โดยมีเกษตรกรสนใจไปประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมทั้งนำแนวทางการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรแบบครบวงจรไปปรับใช้ในบริบทของตองกา

        2.  มีการเผยแพร่แนวทางการทำเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรในตองกาและ  มีเกษตรกรสนใจนำไปประยุกต์ใช้

        3. เกษตรกรตองกาสามารถทำเกษตรผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือน และสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้

        4. สำนักพระราชวังตองกา ร่วมกับกระทรวงเกษตร อาหาร ป่าไม้ และประมงตองกา น้อมนำแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปพัฒนาใช้ในชุมชนอื่น ๆ ของตองกา ภายใต้โครงการ Royal Estate Agriculture Development Initiative “API KO FATAI’ Royal Estate –Vava’u Island”

ในการดำเนินงานโครงการนี้ ถือได้ว่า รัฐบาลไทยมีส่วนช่วยให้รัฐบาลตองกาสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในเป้าหมายที่ 1 การลดความยากจน โดยเริ่มจากการลดความยากจนในระดับฐานราก (grassroots level)  ผ่านการสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม  เป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชน ด้านเกษตรการเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน  เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่ดี โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงผ่านกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพชุมชน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น)  เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความเข้มแข็ง ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของชุมชนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะ  และสำหรับรัฐบาลไทยนั้น คือ  เป้าหมายที่ 17 สร้างเครือข่ายหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนและทุกระดับในสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ประชาชน และหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ