เอาจริงก็ไม่เกินความคาดหมายว่า คนที่จะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ “อาจารย์ทริป” หรือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ประกาศลงเล่นการเมืองสนามท้องถิ่นเต็มตัว และย้ำด้วยว่า “ถ้าไม่ได้นี่คือสนามสุดท้าย” เพราะไม่สนใจการเมืองระดับชาติแล้วแม้จะเคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยก็ตาม “คมวาทะ” ก็ประมาณว่า “เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น” (กับการเมืองระดับชาติ ) มันดูมีความอ่อนน้อมน่าชื่นชม

เหล่าแฟนคลับอาจารย์ทริปก็พูดถึงแต่เรื่องดีๆ กันใหญ่ ตั้งแต่ว่า “นี่เป็นนักการเมืองที่เรียกชื่อได้เลย ไม่ต้องมาเรียกเป็นคุณเป็นท่าน” ดูเข้าถึงได้ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง (แต่ก็เห็นชาวบ้านเรียกนักการเมืองบางคนมีไอ้มีอีนำหน้า) ที่ สำคัญคือภาพเสื้อแขนกุดเท้าเปล่า เดินถือถุงแกงไปทำบุญ กลายเป็นภาพ meme คือภาพล้อเลียนทางอินเทอร์เน็ตกันใหญ่ว่า เป็น “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” เพราะภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีบ้านเรา..เท่าที่จำได้คือไม่เคยเห็นใครมีรูปร่างแบบคนออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ดูแข็งแรง แบบทำงานได้ไม่นั่งก็หลับเดินก็ล้ม

ความพยายามอธิบาย "มีมชัชชาติ" อะไรคือปัจจัยสร้างปรากฏการณ์ - Faceblog.in.th

Meme กลายเป็นภาพจำของคนรุ่นใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ประกอบกับการลงพื้นที่ดูปัญหา ออกแบบวิธีการทำงาน โดยเฉพาะการแก้ไขส่วนเล็กส่วนน้อยที่เรียกว่า “สร้างความรำคาญกับชีวิตคนกรุง” อย่างตรงไหน ฟุตปาธไม่เรียบ น้ำไม่ระบาย ไฟฟ้าไม่สว่างพอ ก็ต้องหาทางเข้าไปทำการแก้ไขให้ไวที่สุด หรือที่เรียกว่า “นโยบายเส้นเลือดฝอย” ไม่เน้นเรื่องโปรโมตว่าจะทำ โครงการเมกะโปรเจคท์อะไรมาก เพราะงบ กทม.ก็มีจำกัด และขอบเขตงานผู้ว่าฯ กทม. ก็มีจำกัด เป็นงานพวกแม่บ้าน งานประสานกับรัฐบาลเสียมากกว่า   

(และคนก็กำลังอยากให้มีนโยบายเก็บ ภาษีคนรวยเพิ่ม โดยเฉพาะภาษีที่ดินที่เอาที่แปลงงามๆ ไปปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ แอ๊บเป็นที่ทำการเกษตรเพื่อลดภาษีที่ดิน หรือความที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ก็น่าจะออกแบบเรื่อง “ภาษีลาภลอย” จากผู้ได้ประโยชน์ที่ดินราคาเพิ่ม เพราะระบบรางผ่าน มาเติมเป็นรายได้ของ กทม.อีกส่วนหนึ่ง หรือกระทั่งความคิดของ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เรื่องการเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็ช่วยหารายได้ส่วนหนึ่ง นำมาเพิ่มสวัสดิการในกลุ่มคนแก่ เด็ก ผู้ป่วยติดเตียง ในเมืองกรุงที่ความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ได้)

จากกรณีชัยชนะของอาจารย์ทริป ทำให้ทำนายเบื้องต้นว่า “post ชัชชาติ” จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองระดับชาติบางอย่าง ที่น่าสนใจ  อาทิ

1. การที่ประชาชนเริ่มต้องการคนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ แทนคนรุ่นเบบี้บูม ที่คิดแบบระบบราชการ งบประมาณจำนวนมากเป็นงบประจำเพราะ หน่วยราชการใหญ่เทอะทะ (โดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งมีเสียงนินทาให้รึ่มว่า นายพลบ้านเราเยอะเกินเหตุ อย่างไรก็ต้องได้ลาภยศสรรเสริญ พอขึ้นนายพลเลยไม่มีงานทำ แต่กินเงินหลวง เอาไปแขวนไว้ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ) เปลี่ยนงบมาเป็นเพิ่มงบลงทุน เพิ่มวิธีใหม่ๆ ในการหาเงินเข้าประเทศมากขึ้น ลดการผูกขาดจากนายทุน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายที่ถ้าธุรกิจไหนผูกขาดอยู่ๆ มันจะขึ้นราคาคนก็เลิกใช้ไม่ได้

และเชื่อได้ว่า ประชาชนเองก็ต้องการคนทำงานแบบ “เขาอยากพูดถึงเองว่าคนๆ นี้ทำงานอะไร” ไม่ใช่ประเภท ทำอะไรไปแล้วมาทวงบุญคุณอยู่ไม่รู้แล้ว มาอ้างปิดทองหลังพระซึ่งมันดู “หมดยุค” และแปร่งๆ อย่างไรก็ไม่ทราบ อ้างว่าปิดทองหลังพระแต่เล่าเป็นฉากๆ ว่าทำอะไร เอาเป็นว่าคงมีสปอตไลต์อยู่แถวหลังพระล่ะกัน…

2.การดีเบตมีส่วนสำคัญ คนไม่อยากฟังสื่อสารฝั่งเดียวแล้วอยากตั้งคำถามให้แคนดิเดตในการเลือกตั้งตอบ การดีเบตคือการโชว์วิสัยทัศน์ออกสื่อ ซึ่งบางทีสื่อมีการ “เน้นย้ำ” นโยบายและวรรคทองบนเวทีดีเบตลงพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ยิ่งย้ำภาพจำ สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีผลต่อการรับรู้ของประชาชนมากที่สุดเพราะเหมือนสื่อที่เล่าสรุปข่าวให้เข้าใจง่าย ผ่านการย่อยมาแล้ว คนก็ดูการดีเบตจากโทรทัศน์ การอ้าง “ชอบทำแต่ไม่พูด” ไม่ใช่ผลดี เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าคุณทำอะไรไป แต่อะไรที่เป็นปัญหาคนจำได้หมด 

การดีเบตต้องเตรียมตัวพร้อม แคนดิเดตจะเจอคำถามที่คาดไม่ถึงได้ตลอด หรือให้เจอกิจกรรมอะไรที่สื่อแล้วแต่จะสรรค์สร้างให้น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. เจอคำถาม เรื่องผังเมือง การให้มีตลาดหรือห้างข้างย่านที่อยู่อาศัย ในการดีเบตช่อง 3 ก็ตอบแบบอ้อมๆ หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้ร่วมเวทีดีเบต (ซึ่งไม่รู้ว่าคิดว่าเพราะตัวเองเสียเปรียบหรือเปล่า) แล้วเน้นสโลแกน “ชอบทำไม่ชอบพูด” แทน และอาศัยไปลงพื้นที่หาเสียง แต่มันก็ได้แค่จุดเดียว ไม่ทำให้เห็นในระดับมวลชนที่คนที่ชื่นชอบชี้ชวนให้ช่วยกันเลือก

ไม่ใช่ พล.ต.อ.อัศวินไม่มีผลงาน เอาจริงถ้าไปติดตามเพจ “อัศวิน ขวัญเมือง” ก็นับว่าผลงานเยอะ โดยเฉพาะ เรื่องการปรับภูมิทัศน์ หรือเรื่องที่บิ๊กวินชอบพูดคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ทำไปเยอะเหลือแค่เก้าจุด กระทั่งช่วงโควิดก็มีนโยบายออก รถโมบายล์ฉีดวัคซีน แต่ปัญหาการพูดไม่เก่ง ทำให้คนเข้าใจแค่ว่าบิ๊กวิน มีผลงานแค่คลองโอ่งอ่าง ซะอย่างนั้น ..กรณีบิ๊กวิน เป็นกรณีศึกษาการออกสื่อว่า “พูดผิดชีวิตเปลี่ยน” จากกรณีประตูระบายน้ำบางเขน ซึ่งช่างยังไม่ส่งมอบงาน ความที่พูดไม่เก่งทำให้บิ๊กวินไปตอบสื่อทำนองว่า “หากุญแจประตูระบายน้ำไม่เจอ” คำนี้บาดใจคนกรุงยิ่งนัก เชื่อว่าในอนาคตถ้าเอาลูกคนเล็ก ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ลงเล่นการเมือง คงถูกล้อ “พ่อหากุญแจประตูระบายน้ำเจอยัง”

ทั้งนี้ คนปัจจุบันเขาทันนักการเมืองมากขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่า “พูดเก่ง” ไม่ใช่คำว่า “ขี้โม้” คืออะไรที่พูดต้องมีเหตุผล มีความเป็นไปได้ ไม่เลื่อนลอย ประเภทหาเสียงว่าจะยกหนี้เกษตรกรทั้งประเทศ ยึดที่คนรวยให้คนจน …อะไรอย่างนี้ ถึงบางเรื่องทำเนียนอ้างว่าทำได้ แต่มีนักวิชาการ มีผู้รู้ มีนักวิจารณ์ออกมาแสดงความเห็นกับนโยบายแน่นอน

3.การเมืองระดับชาติก็จะแบ่งเป็นสองขั้ว คือขั้ว พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับ พรรคเพื่อไทย ขณะที่ขั้วพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนวิธีการสื่อสารที่สร้างความเป็นกันเองมากขึ้น การอุปมาเป็น “ครอบครัวเพื่อไทย” เน้นนโยบายสิทธิมนุษยชนมากขึ้น จากที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มา เรื่องนี้ถูกพูดถึงน้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การนำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”ได้ทั้ง ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ พูดเป็น ดูมีแววดีเบตได้ และยังมี ดีเอ็นเอของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นข้อได้เปรียบ

ขณะที่ขั้ว พปชร. พรรคจะแตกแหล่ไม่แตกแหล่ก็ยังไม่รู้ ที่คนเริ่มมองกันแล้วคือกรณีกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรีจะยกทีมออกหรือไม่เพราะรู้สึกตัวเอง “ถูกลดความสำคัญลง” จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไปใกล้ชิดกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน อดีตเด็กบ้านใหญ่มากกว่า …ย้อนกลับไปข้อแรก การวางตัวของนายชัชชาติทำให้คนอยากได้คนทำงานมากกว่าคนเล่นการเมือง ต้องเป็นคนทำงานแบบคนรุ่นใหม่ มีพลังล้นเหลือ แต่ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรค พปชร.นั้นไม่ใช่เลย เห็นบ่นเรื่องสุขภาพอยู่ตลอดเวลา

พรรค พปชร. ประกาศจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถ้าเอาไปดีเบตในยุค “post ชัชชาติ” ที่คนสนใจดีเบต สื่อก็อยากจัดดีเบตแคนดิเดตนายกฯ แน่ ๆ ก็ไม่รู้ว่าบิ๊กตู่ไปแข่งแล้วรุ่งหรือร่วง เวลาโดนถามมากๆ จะปรี๊ดแตกหรือไม่ เมื่อเทียบกับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่น ยกตัวอย่างที่เปิดหน้าชัดคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พรรคสร้างอนาคตไทย หรือกระทั่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็มีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะอายุถึง

ประกอบกับ รัฐบาล คสช.อยู่มาตั้งแต่ปี 57 ประชาชนก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง ยิ่ง “ขั้วตรงข้าม” ย้ำเรื่อง สร้างแต่หนี้ ซื้อแต่อาวุธ คนยิ่งอยากเปลี่ยนแปลง บุคลิกความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้ใจคนรุ่นใหม่เท่าไร มีวิธีคิดแบบเก่าๆ แบบทหารคือสั่งให้เชื่อ .. ซึ่งนักการเมืองก็คงประเมินไว้แล้วว่าภาพลักษณ์ของ พปชร. เหมือนไม่ค่อยปรับตัวเอาคนรุ่นใหม่ เอาแนวคิดใหม่ๆ มาใช้ ทีมเศรษฐกิจไม่ขึ้นชื่อ (ในการเลือกตั้งหน้า ปัญหาเศรษฐกิจจะสำคัญที่สุด) ..ไม่แน่ว่า ปลายๆ สมัยเราอาจเห็น ส.ส.ลาออกจากพรรคและสิ้นสภาพ ส.ส.หลายคน เพื่อย้ายพรรคให้ทันเลือกตั้งใหม่  

ถ้าคะแนนของพรรค พปชร. ไม่ได้พอเป็นพรรคลำดับหนึ่งหรือสองในการจัดตั้งรัฐบาล อาจเป็นไปได้ว่า เพื่อไทย ก้าวไกล ภูมิใจไทย สวิงไปรวมตัวกันเอง (สามพรรคนี้มีโอกาสเป็นพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งที่จะถึง) เช่นนั้นแล้ว พปชร. อาจกลายเป็น พรรคเบี้ยหัวแตก คือ ส.ส.ไม่สนมติพรรค แล้วแต่อยากไปสังกัดกลุ่มไหนแบบพรรคเพื่อแผ่นดินที่เป็นพรรคอกแตกไปแล้ว

Post ชัชชาติ จะเป็นอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะต้นปีหน้าก็อาจเลือกตั้งแล้ว.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”