เวลาลุกยืน ลุกนั่ง เข้าห้องน้ำ เข้านอน เดินไปมา ไหว้พระ ล้วนต้องอาศัยข้อเข่าทั้งสิ้น ถ้าข้อเข่างอลำบาก หรือไม่มั่นคง การทำกิจวัตรประจำวันเช่นนั้นจะลำบากเพียงใด สำหรับคนหาเช่ากินค่ำความยากลำบากนี้อาจหมายถึงการเสียรายได้ประจำวัน

เย็นวันศุกร์ หญิงวัยกลางคนประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มเอง ไม่มีบาดแผลภายนอก แต่มีอาการเจ็บบริเวณหัวเข่าขวา จนขยับไม่ได้ร่วมกับหัวเข่าบวม หลังฟิล์มเอ็กซเรย์ทั้งเข่าและกระดูกขาท่อนบนและล่างไม่พบกระดูกหัก

แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อได้ตรวจ ร่างกายเพิ่มเติมพบว่าสงสัยการบาดเจ็บเส้นเอ็นยึดข้อด้านใน(เอ็นไข้วเข่า) ร่วมกับเอ็นหุ้มข้อด้านหลังบาดเจ็บ จึงจำเป็นตรวจด้วย MRI เพื่อประเมินให้แน่ชัดจะได้วางแผนการผ่าตัดแก้ไขอย่างเหมาะสม รพ.อำเภอต้นทางแห่งนี้จึงต้องส่งตัวคนไข้เข้าไปรักษาต่อที่ รพ. มหาราช โดยต้องรอจนถึงวันจันทร์ถัดไปเนื่องจากคนไข้ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉินจริงๆ

ข้าพเจ้า (นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย) ซึ่งเข้าใจว่าเคสนี้พอรอได้ ไม่มี อันตรายถึงชีวิตใด แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าคนไข้เช่นนี้ระหว่างรอ ผู้ป่วยจะใช้ชีวิตอย่างไรในเมื่อไม่สามารถขยับเข่าได้ ยังติดต่อญาติไม่ได้ และจะเดินทางไปรับการรักษาต่อที่ รพ.มหาราช อย่างไร ทำไมไม่รับคนไข้ไว้นอนรักษาในโรงพยาบาลระหว่างรอส่งตัว

ข้อคิดของนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว สะท้อนปรัชญา “การยึดเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นศูนย์กลาง” ที่เขาได้รับการปลูกฝังมา ซึ่งเชื่อว่าทุกโรงเรียนแพทย์ล้วนพยายามปลูกฝังศิษย์ให้ยึดถือปรัชญาดังกล่าว ครั้นจบไปทำงานจริง ความมั่นคงต่อปรัชญาเช่นนี้อาจถูกเจือจางลงโดยเหตุปัจจัยมากมา ด้วยความตระหนักเช่นนี้กระมัง ศาสตร์ใหม่ในวงการแพทย์จึงค่อยๆ อุบัติขึ้น เช่น วิทยาการระบบ routine 2 research การประกันคุณภาพสถานพยาบาล เป็นต้น

แต่ละปี สถิติในสหรัฐอเมริกา คาดว่ามีจำนวนการบาดเจ็บเอ็นไขว้ข้อเข่าด้านหน้า (Anterior Cruciate Ligament,ACL) 250,000 ราย และมีการผ่าตัดซ่อมเอ็นชนิดนี้มากกว่า 100,000 ครั้ง การซ่อมเร็วหรือช้าอาจให้ผลไม่ต่างกันเท่าที่มีการรวบรวมผลวิจัยอย่างเป็นระบบ สำหรับวิธีการรักษาการบาดเจ็บเอ็นไขว่ข้อเข่ามากกว่าหนึ่งเส้นในข้อเดียวกันมีได้หลายวิธี โดยจังหวะการรักษาเร็วช้าไม่ได้มีผลต่างกัน (https://doi.org/10.1016/j.arthro.2017.07.023)

ในประเทศไทย ปัจจุบันค่าบริการของ รพ.เอกชน แห่งหนึ่งในเน็ตระบุว่า ผ่าตัดเอ็นไขว้ข้อเข่าด้านหน้า (ACL) หรือด้านหลัง (Posterior Cruciate Ligament) อย่างใดอย่างหนึ่ง นอนโรงพยาบาล 3 คืน ราคา 140,000 บาท ถ้าเป็น รพ.เอกชนระดับหรูราคาอาจมากกว่านี้ 3-5  เท่า

ป้องกันจึงดีกว่าแก้ไข ถ้าเลี่ยงที่จะใช้จักรยานยนต์ไม่ได้ ก็ควรนึกถึงการป้องกันข้อเข่าระหว่างขับขี่/โดยสารจักรยานยนต์โดยเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเข่าบาดเจ็บ ราคา 240-1700 บาท บนเนต โดยมีประสิทธิผล 200–800 % ขึ้นกับตำแหน่งเส้นเอ็นไขว้ (doi:10.1177/0363546510394431)

https://www.arthroscopyjournal.org/article/S0749-8063(17)30764-8/fulltext

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด