เมื่อวันที่ 10 ก.ค. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ลง 10 ก.ค. 2564 นั้น ได้มุ่งเน้นการห้ามออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ตั้งแต่ 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น หรือผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องขออนุญาตกับพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามผู้ใดออกมารวมกลุ่มกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดฯ กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีมาตรการปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดฯ ดังนี้

1.ตั้งจุดตรวจ ทุก สน. รวม 88 จุดตรวจ ในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็น 3 ผลัด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นายต่อ 1 ผลัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้นๆ มีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าจุดตรวจ สน.แต่ละ สน.รับผิดชอบ 1 ผลัดต่อคืน เริ่มตั้งในวันที่ 10 ก.ค. 2564 เวลา 21.00 น. เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

2.จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพิ่มความเข้มในการตรวจตรา ห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน เวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยเน้นการตรวจตราจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนออกมาในเวลาดังกล่าว ส่วนการเปิดให้บริการของห้างร้าน ซูเปอร์มาร์เกต สวนสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด คือ เปิดได้ถึง 20.00 น. ยกเว้นขนส่งสาธารณะที่เปิดได้ถึง 21.00 น.

โฆษก บช.น. กล่าวต่อว่า ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามนโยบายมาตรการควบคุมโรคตามข้อกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำชับมายัง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ให้นำเอาแอพพลิเคชั่นตรวจสอบข้อมูลบุคคลและยานพาหนะประจำจุดตรวจ มาใช้ในการตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิวด้วย ซึ่งจะทำให้จุดตรวจเคอร์ฟิวเกิดประโยชน์ นอกจากเรื่องการจำกัดการเคลื่อนย้ายของบุคคล และการห้ามออกนอกเคหสถานแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย

บช.น. ได้ทำการอบรมทบทวนการใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบข้อมูลบุคคลและยานพาหนะประจำจุดตรวจ เมื่อวันที่ 10​ ก.ค.​ 2564​ เวลา​ 09.00-12.00 น.​ ณ​ ห้องประชุมใหญ่​ บช.น. โดยมี บก.สส.บช.น. ควบคุมการฝึกอบรมในภาพรวม ผู้เข้ารับการอบรมเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ระดับ หัวหน้าด่าน และ สว.กก.สส.บก. ของ บก.น.1-9 และ บก.จร. โดยผู้เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจ และได้ทบทวนความรู้เก่า พร้อมที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ปฏิบัติภายใน บก. ต่อไป

มีรายงานว่า บช.น.จะเริ่มตั้งด่านตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. โดยใช้มาตรการด่านตรวจความมั่นคงเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ก่อนปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ศบค.กำหนดดังกล่าว.