เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเผยถึงกรณีที่มีบางหน่วยงานเรียกร้องให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 20-25 บาทว่า ถ้าสามารถลดให้เหลือราคา 20-25 บาทได้ บีทีเอสก็ยินดี เพราะอยากให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูก แต่ถ้าจะให้ถูกขนาด 20-25 บาท รัฐบาลก็ต้องชดเชยให้เอกชนด้วย ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศ ถ้ารัฐบาลช่วยชดเชย ค่าโดยสารก็จะถูกลงได้ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น รถไฟฟ้าบางสายรัฐบาลช่วยออกค่างานโยธาให้ แต่ในส่วนของสายสีเขียว รัฐบาลไม่ได้ช่วยสนับสนุน

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ในต่างประเทศรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า ทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งบางประเทศออกกฎหมายเลย เพื่อช่วยรถไฟฟ้า ขณะที่บางประเทศให้ที่ดินเกือบทุกสถานี เพื่อสร้างศูนย์การค้า หรือสำนักงาน เพื่อให้มีรายได้ส่วนอื่นมาจุนเจือรถไฟฟ้า ส่วนบางประเทศก็อุดหนุนโดยตรง โดยให้เงินสนับสนุนรายหัวผู้โดยสาร แก่ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าเลย อย่างไรก็ตามถ้ารัฐบาลสามารถอุดหนุนเงินรายหัวให้ได้ ก็คงต้องทำทั้งระบบ ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าสายใดสายหนึ่ง ปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 3 แสนคน คาดว่าเมื่อเปิดประเทศน่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้นอีก

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ต่อศาลปกครอง กรณีค้างจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการฟ้องเพิ่มเติมในส่วนของค่าติดตั้งระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ฟ้องเพียงแค่ในส่วนของค่าจ้างเดินรถ 1.2 หมื่นล้าน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฯ โดย กทม. ต้องไปชี้แจงข้อเท็จจริงที่ศาลปกครอง อย่างไรก็ตามอยากให้เรื่องนี้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด ซึ่งเราเป็นบริษัทเอกชน มีภาระอีกเยอะ ที่ฟ้องก็เพื่อให้ชำระหนี้ ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้กับผู้ถือหุ้น