เมื่อวันที่ 5 ม.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย, เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย, ผู้ที่กำลังรักษาตัว 34,877 ราย, หายป่วยกลับบ้าน 2,508 ราย, ยอดฉีดวัคซีนสะสม 105,012,701 โด๊ส

สำหรับ 10 จังหวัดสูงสุด ประกอบด้วย ชลบุรี 529 ราย กรุงเทพฯ 408 ราย อุบลราชธานี 315 ราย สมุทรปราการ 259 ราย ขอนแก่น 164 ราย ภูเก็ต 138 ราย เชียงใหม่ 135 ราย นครศรีธรรมราช 91 ราย พัทลุง 87 ราย และนนทบุรี 78 ราย

ส่วนภาพรวมตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.64-4 ม.ค.65 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา 78.91% ส่วนโอมิครอนพบ 20.92% จำนวน 2,338 ราย และพบผู้ติดเชื้อกระจายไป 55 จังหวัด โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือถึงมาตรการรองรับด้านสาธารณสุขกรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่อาการน้อยและอาการไม่รุนแรงด้วยการกักตัวที่บ้าน (Home isolation)

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับการติดเชื้อช่วงปีใหม่พบ หลายคลัสเตอร์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ คลัสเตอร์แคมป์คนงาน, คลัสเตอร์โรงงานสถานประกอบการ, คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา และคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ที่พบในหลายจังหวัดเช่นที่จ.เชียงใหม่ สถานบันเทิง ถนนนิมมานเหมินท์และอำเภอเมือง และพบที่ร้านเหล้า จ.ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารกึ่งผับและสถานบันเทิงจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย

“จากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นการติดเชื้อในร้านอาหารกึ่งผับหรือเรียกว่าเป็นสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนและเปิดให้บริการโดยมีความเสี่ยง ไม่ได้เปิดให้บริการภายใต้มาตรการ covid free setting โดยเมื่อลงไปตรวจในสถานที่เหล่านี้พบว่าเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ไหลเวียน ไม่มีการจำกัดจำนวนคนในการเข้าเข้ารับบริการ รวมทั้งมีการจําหน่ายสุราโดยผู้ใช้บริการมีการกินดื่มสังสรรค์ พูดคุยเสียงดัง และใช้เวลาในร้านอาหารเป็นระยะเวลานาน และพบว่าไม่ได้เพิ่งเปิดในช่วงปีใหม่ แต่เปิดมาตั้งแต่ก่อนสิ้นปีตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. และเปิดให้บริการมาตลอด” พญ.สุมนี กล่าว

ในช่วงท้าย พญ.สุมนี เปิดเผยว่าวันศุกร์ที่ 7 ม.ค. ศบค.ชุดใหญ่นัดประชุม โดยมีวาระสำคัญ อาทิ

  1. การปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการจำกัดจำนวนคนและการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรม รวมทั้งการอนุญาตการดื่มสุราในร้านอาหาร
  2. เรื่องการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มว่าพิจารณาเปิดสถานบันเทิงหรือไม่ แต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ จึงเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญว่าวันที่ 7 ม.ค. จะอนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือไม่
  3. เรื่องปรับมาตรการของคนที่เดินทางมาในประเทศไทยแบบ Test and Go ที่มีการปรับไปก่อนหน้านี้

“รวมทั้งจะมีการพูดคุยถึงวาระอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโอมิครอนเพิ่มเติม โดยขอให้ประชาชนและสถานประกอบการติดตามผลการประชุมอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการตามมาตรการอย่างถูกต้อง” พญ.สุมนี กล่าว