ผ่านพ้นต้นปีขาล 2565 เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เค้ารางของความวุ่นวาย เริ่มจะแผลงฤทธิ์ ไหนจะวิกฤติโควิด-19 ปัญหายังไม่ทันคลี่คลาย เชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ โอมิครอน ก็กำลังระบาดไปทั่วประเทศ เท่านั้นไม่พอ ในต่างประเทศยังรายงานสะพัดว่าตรวจพบโควิดกลายพันธุ์ ผสมกันระหว่าง เชื้อเดลตา กับ เชื้อโอมิครอน เรียก เดลตาครอน โผล่มาอีกตัว!!

จากปัญหาวิกฤติโควิดที่สร้างความปั่นป่วน ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน  จนยอดสะสมผู้เสียชีวิตในไทยมีมากกว่า 2 หมื่นคน ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ต่างก็พะว้าพะวงอยู่กับโควิด แต่ช่วงท้ายปี 2564 ข้ามมาปี 2565 ยังต้องเจอปัญหา “หมูแพง” อีก จากเคยซื้อราคา กก.ละ 130-150 บาท แพงสุดก็ไม่เกิน 180 บาท พุ่งทะยานแตะไปถึง กก.ละ 220-240 บาท

นอกจากจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่แล้ว ยังมีคำถามตามมาว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับหมูในประเทศไทย?

หน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมปศุสัตว์ ออกมาอธิบายเหตุผลทำนองว่า มีปัจจัยหลัก ๆ เรื่องของ ต้นทุนการผลิต เช่น ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรคมีราคาแพงขึ้น รวมทั้งการพบ โรคระบาดในสุกร ทำให้ต้องทำลายหมูมีชีวิตในฟาร์มหรือคอก เพื่อควบคุมป้องกันการเกิดโรคระบาด เมื่อผู้เลี้ยงแบกรับต้นทุนไม่ไหว เลี้ยงไปขาดทุนก็ต้องหยุด ผนวกกับหมูป่วยถูกกำจัดออกไปจากระบบจำนวนมาก ปริมาณหมูลดลงจนไม่เพียงพอต่อผู้บริโภคจึงทำให้ราคาหมูขยับสูงขึ้น

หลังเกิดปัญหาราคาหมูแพง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประชุม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2565 โดยหารือแก้ปัญหาร่วมกับกรมปศุสัตว์ ที่เป็นหน่วยงานดูแลการผลิตสุกรป้อนเข้าสู่ตลาด ระบุตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงสุกรป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว (บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว) คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีสุกรหายไปจากระบบประมาณ 5 ล้านตัว เหลือประมาณ 13 ล้านตัว จาก 19 ล้านตัว เบื้องต้นที่ประชุมฯได้พิจารณาห้ามส่งออกต่างประเทศสุกรมีชีวิต  3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.-5เม.ย.65 เป็นการชั่วคราว คาดว่าจะช่วยให้มีหมูกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว

แต่สื่อหลายแขนง เริ่มจับประเด็น แล้วโรคระบาดอะไร? ทำให้ปริมาณหมูในไทยหายไปจากระบบ

มีข้อมูลต่าง ๆ เริ่มพรั่งพรูออกมา ไม่ว่าจะทางฝั่ง กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หรือแม้ พรรคฝ่ายค้าน ที่ออกมาพูดย้ำถึงประเด็น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ ASF โรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรง ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษา อาการสุกรจะมีไข้สูง ผิวหนังแห้ง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำ โดยเฉพาะใบหู ท้อง และขาหลัง ถ้าเป็นแล้ว อัตราตายเฉียบพลันสูง การติดต่อของโรคจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสุกรที่ป่วยส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องทำลายซากทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงกระจายโรคในพื้นที่ใกล้เคียง  ปัญหาเรื่องนี้พูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2561 หลังพบ โรค ASF ระบาดทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย กระทั่งโรคเข้ามาในเวียดนาม ทำให้ แม่พันธุ์หมู ตายไปกว่า 3 ล้านตัวจนเหลือเพียง 1 ล้านตัว

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีหมูล้มตายและถูกทำลายเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่กรมปศุสัตว์ ยืนยันหนักแน่นไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร! ระบุมาตลอดหมูป่วยเป็น โรคเพิร์ส (Porcine reproductive and respiratory syndrome) หรือ
PRRS เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ แต่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูต่างก็สะท้อนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกัน ตั้งแต่เลี้ยงหมูมาก็ยังไม่เคยเจอสถานการณ์โรคระบาดอะไรที่รุนแรงเช่นนี้ ตามปกติผู้เลี้ยงต่างรู้ว่าหมูป่วยโรคเพิร์ส อัตราการตายจะต่ำ แต่รอบนี้ทำไมหมูตายเยอะมาก จนส่งผลกระทบบานปลายไปทั้งระบบ

’เชิงผา“ พอจะได้เห็นข้อมูลที่เริ่มแชร์ตามกลุ่มผู้เลี้ยงหมู เขียนระบายถึงปัญหาที่กำลังประสบอยู่ต่าง ๆ นานา พร้อมดีใจที่เห็นสื่อหยิบประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า มี วิกฤติโรคระบาดในหมู เกิดขึ้นในประเทศไทย จนสร้างความเสียหายให้กับ
หมูแม่พันธุ์ในประเทศไทยล้มตายไปกว่า 50%  

ที่สำคัญโรคระบาดในหมูยังไม่หยุด จึงอยากจะเห็นสื่อช่วยเกาะติดตีแผ่ความจริง หมูล้มตายจำนวนมากเพราะโรคอะไรแน่? แล้วรัฐจะมีมาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาด แก้ปัญหาที่กำลังกระทบเป็นลูกโซ่ พร้อมเยียวยาเกษตรกรอย่างไร.

————-
เชิงผา