เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการหารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ นายธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม “เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เลือกวิธีฟอกไตได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เริ่มดำเนินการวันที่ 1 ก.พ.2565

นายอนุทิน กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เกิดจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ และได้รับฟังปัญหาของผู้ป่วยฟอกไตสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีหลายคนต้องจ่ายเงินค่าฟอกไตครั้งละ 1,500 บาท เนื่องจากไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องตามหลักเกณฑ์กองทุนบัตรทองที่กำหนดให้เป็นบริการแรกของการบำบัดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีความกังวลทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายและเดือดร้อน จึงนำมาหารือ และบอร์ด สปสช.ได้ทำการศึกษาปรากฎว่าสามารถทำได้และใช้งบประมาณเพิ่มไม่มาก จึงเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 และเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ก.พ.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการพิจารณาคือให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไต ร่วมกับแพทย์ที่รักษาโดยคำนึงถึงเศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค ปัจจัยทางสังคม และความเหมาะสม ทั้งนี้สามารถเข้ารับบริการได้ทุกหน่วยบริการไม่เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้นสำหรับปัจจุบันมีผู้ป่วยฟอกไต 30,802 ราย ในจำนวนนี้ 6,546 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้อง และเลือกจ่ายเงินเองฟอกไตเอง ส่วนผู้ป่วยล้างทางหน้าท้องมี 32,892 รายในจำนวนนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกไตประมาณ 5,000 รายโดยจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 1,079.9 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ระยะ 8 เดือน จะใช้งบฯ 719.9 ล้านบาท ซึ่ง สปสช. จะนำงบเหลือจ่ายของปี 2564 ที่ไม่มีภาระผูกพันนำมาดำเนินการ

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ต้องเริ่มนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก เพราะติดข้อจำกัดจำนวนหน่วยบริการไตเทียมและบุคลากรมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ต้องการฟอกไตได้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการล้างไตผ่านช่องท้องต้องจ่ายค่าฟอกไตเอง แต่ปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยบริการไตเทียมมากขึ้นน่าจะเพียงพอรองรับดูแลผู้ป่วยได้ และคาดว่าผู้ป่วยไตวายที่จะฟอกไตเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยใหม่ เพราะผู้ป่วยเก่าที่ล้างไตผ่านช่องท้องและสบายดีอยู่แล้ว ก็น่าจะใช้วิธีล้างไตเดิมต่อไป

นายธนพลธ์ กล่าวว่าการเปิดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมกับแพทย์ในการตัดสินใจเลือกวิธีการบำบัดไต รวมถึงยกเลิกเก็บค่าบริการฟอกเลือดนั้นจะช่วยลดภาระให้ผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องผู้ป่วยต้องรับบริการฟอกไต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมเป็นค่าใช้จ่ายเกือบ 20,000 บาทต่อเดือนถือว่าสูงมากโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่กังวลและฝากติดตามคือความเพียงพอของหน่วยฟอกไตเทียมและบุคลากรในการให้บริการ คงต้องตามดูสถานการณ์หลังจากวันที่ 1 ก.พ. แต่เชื่อว่าสธ. และ สปสช. ได้เตรียมความพร้อมของระบบเพื่อรองรับไว้แล้ว ก่อนจะประกาศและเดินหน้านโยบายนี้.