“โรคหัวใจล้มเหลว” เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่คุกคามประชากรโลกในปัจจุบัน เพราะนอกจากเรื่องของพันธุกรรม แล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำเกิดโรคดังกล่าว ซึ่ง “ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงศ์” แพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลศิริราช นายกสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า โรคหัวใจ จะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ที่พบบ่อยคือโรคที่เกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของระบบหัวใจ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว โรคเกี่ยวกับระบบเส้นเลือดหัวใจ และปัจจัยทางพันธุกรรม ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตปัจจุบันทั้งความนิยมกินอาหารฟาสต์ฟู้ด กินอาหารรสหวาน มัน เค็ม ซึ่งทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำคัญ ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน หากควบคุมไม่ดีก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจประเภทต่าง ๆ ตามมา

ทั้งนี้ ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวประมาณ 1% ของประชากร โดยเฉพาะ 60-65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ทำให้เข้าโรงพยาบาล สถานการณ์ทั่วโลกได้สร้างผลกระทบต่อผู้คนอย่างน้อย 26 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ 18 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุ 3 ใน 5 หรือ 4 ใน 5 ของคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดทั้งหมด และกว่า 70% ของการเสียชีวิตพบว่าอยู่ในกลุ่มที่สามารถป้องกันได้ ส่วนใน ประเทศไทยเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจ 20-25% หรือประมาณ 1.2 แสนรายต่อปี

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงศ์

“โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่คนอายุน้อยจะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนไทยก็ไม่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพมากนัก ทำให้ไม่ทราบว่ามีอาการเจ็บป่วยอยู่ จนกระทั่งโรคจะมาแสดงอาการ หรือมีอาการหนักเมื่อมีอายุมากขึ้น

ดังนั้น จึงมีคำแนะนำโดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ไขมัน อายุมากขึ้น สูบบุหรี่ด้วย จะต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคประจำตัวไม่ให้ลุกลามรุนแรงจนนำมาสู่การเป็นโรคระบบหัวใจต่าง ๆ อาทิ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น เพราะจะลงท้ายด้วยหัวใจล้มเหลว

ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเส้นเลือดหัวใจเมื่อเป็นไประดับหนึ่งแล้วอาจจะมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากมีเส้นเลือดอุดตัน หลังจากกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้ว หัวใจจะทำงานผิดปกติ หัวใจล้มเหลวตามมา

ดังนั้นประชาชนต้องรู้หลักการดูแลสุขภาพป้องกันโรคเบื้องต้น ต้องกินอาหารที่มีคุณภาพ ออกกำลังเหมาะสม ทำงานเหมาะสม ไม่เครียดเกินไป นอนหลับเพียงพอ จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงลงไปได้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดสังเกต เช่น โรคหัวใจล้มเหลว ส่วนใหญ่จะเป็น “อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ” เพราะหัวใจทำงานผิดปกติ อาจจะเกิดการบีบตัว คลายตัวผิดปกติ ทำให้ประสิทธิภาพการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ อาจจะทำให้เกิดเลือดคั่งในปอด “ขาบวม” บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ถ้ามีอาการที่ไม่แน่ใจก็ควรพบแพทย์ โดยปกติก็ควรเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี ถึงแม้จะไม่มีอาการ

สำหรับการรักษาหัวใจล้มเหลว ขึ้นอยู่กับแล้วแต่สาเหตุ ดังนั้นจึงต้องประเมินและรักษาที่สาเหตุ หากเป็นเพราะเส้นเลือดหัวใจก็จะมีแนวทางการรักษา เช่นทำบอลลูน ใส่ขดลวด ถ้าเกิดจากลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะรักษาด้วยการรับประทานยา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นโรคที่รักษาได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่หายขาด ต้องรักษาต่อเนื่อง ดังนั้นการดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนเจ็บป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนต้องใส่ใจดูแล อยากให้ประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับโรคนี้ เพราะโรคหัวใจลงท้ายแล้วจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาหัวใจล้มเหลวตามมาได้.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง