ในช่วงที่สถานการณ์ยุคปัจจุบัน เรามีหลายๆ โรคที่เกิดใหม่จนสร้างความน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับโรคล่าสุด ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะใน “เด็ก” จนอาจจะพรากลมหายใจของหนูๆ ได้อย่าง “ตับอักเสบในเด็ก”

โดย อ.ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เผยกับ “Healyhy Clean” ระบุว่า ตั้งแต่ประมาณต้นเดือนเมษายน สหราชอาณาจักรได้ประกาศเตือนออกมาว่า เจอเคสผู้ป่วยเด็กที่มาด้วย “ตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุและค่อนข้างรุนแรง” เพราะว่าเป็นแล้วต้องนอนโรงพยาบาล แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่จะต้องปลูกถ่ายตับ อีกทั้งยังมีรายงานว่าอาจจะมีหนึ่งถึงสองรายที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งในฝั่งยุโรปหลายประเทศก็แจ้งเตือนว่าเจอเหมือนกัน

นอกจากนี้ ในฝั่งเอเชีย และฝั่งญี่ปุ่น ก็มีรายงานว่า พบเคสที่เด็กป่วยด้วยโรคตับอักเสบไม่ทราบสาหตุ เช่นเดียวกับในช่วงประมาณกลางเดือนเมษายน องค์การอนามัยโลกก็ ประกาศให้ “ระวังโรคตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุ”

สำหรับอาการส่วนใหญ่ของ “ตับอักเสบในเด็ก” ส่วนใหญ่เป็นที่เด็กอายุน้อย ช่วงอายุประมาณ 2-8 ปี โดยมีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวเหลือง เมื่อไปตรวจเลือดจะพบว่ามีค่าเอ็นไซม์ตับเพิ่มสูงพอสมควร ซึ่งโดยปกติหมอจะวินิจฉัยว่าเป็นตับอักเสบ แล้วก็จะพยายามหาเชื้อไวรัสที่เจอบ่อยๆ หรือว่าที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เช่น ตับอักเสบ A, B, C, D, E แต่กลับกลายเป็นว่าไม่พบเชื้อ และประมาณครึ่งหนึ่งของเคสที่ตรวจเจอ จะมีเชื้อที่ชื่อว่า “อะดีโนไวรัส” จึงมีการสันนิษฐานว่าตัวการของอาหารดังกล่าวมาจากไวรัสตัวนี้ อย่างเนี่ยค่ะ เขาก็เลยกำลังสันนิษฐานกันอยู่ว่ามันเกิดจากเชื้อนี้หรือเปล่า

“จริงๆ อะดีโนไวรัส เป็นเชื้อไวรัสที่เราเจอกันอยู่แล้วทั่วไป มันเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ น้ำมูก รวมทั้งบางส่วนก็เป็นอาการทางเดินอาหาร ก็คือท้องเสียได้ หรือว่าตาแดงได้เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาก็คือในอดีต ไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดตับอักเสบที่รุนแรงแบบนี้” ถ้าจะเกิดก็ต้องเกิดในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดอันนี้ มันเกิดขึ้นในเด็กปกติ เด็กที่ไม่เคยมีโรคประจำตัวมาก่อน ดังนั้นก็คงต้องพยายามหาสาเหตุว่า อะดีโนไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ มีการกลายพันธุ์อะไรรึเปล่า ทำให้มันมีรูปแบบการแสดงอาการที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าอย่างที่บอกว่า โดยรวมมันยังไม่ฟันธงว่ามันเกิดจากเชื้อนี้จริงๆ เพราะว่ามันไม่ได้เจอในทุกเคส

ส่วนการรักษาในตอนนี้ จะป็นการรักษาตามอาการ เพราะอย่างที่บอกว่ายังไม่รู้สาเหตุจริงๆ ยกเว้นถ้าเป็นกลุ่มตับอักเสบที่เคยพบ ก็จะมียาฆ่าเชื้อไวรัสแล้ว แต่ในกรณีที่เป็นอะดิโนไวรัสเองก็ยังไม่มียาจำเพาะ หากผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ก็อาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายตับ ซึ่งในเคสที่มีการรายงาน จะมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องมาเปลี่ยนถ่ายตับ ถือเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างยากและก็จะทำให้เด็กก็จะกลายเป็นโรคตับตลอดชีวิต

“ปัญหาตอนนี้คือยังไม่รู้ว่ามันติดมายังไง เชื้ออะไร ติดมายังไง ก็เลยไม่รู้จะให้ระวังยังไง ก็ยากพอสมควร” ถ้าถามว่าเชื้อพวกนี้ติดมาจากทางไหนได้บ้างนั้น ต้องบอกว่าอะดีโนไวรัส สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางเดินหายใจ ละอองเสมหะ ติดทางกินเข้าไปได้ ก็ ต้องบอกว่ารักษาสุขลักษณะอนามัยทั่วไปให้ดี อย่างน้อยช่วงนี้เราก็ป้องกันโควิดอยู่แล้ว ก็คือการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันละอองจากไวรัสอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังคงต้องล้างบ่อยๆ อย่าหยิบอะไรเข้าในปาก และหากมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ต้องไปให้คุณหมอช่วยประเมินอีกครั้ง

“อยากฝากถึงการป้องกันโรค คือ 1.เนื่องจากโรคยังไม่รู้อะไรมาก ก็คือต้องระวัง แต่อย่าเพิ่งตระหนก ตกใจมาก 2.การป้องกันตัวตามปกติที่ควรจะทำ เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ สุขลักษณะทั่วไป 3.ถ้ามีอาการเจ็บป่วย เป็นไข้ อาเจียน ท้องเสีย หากมีอาการมาก อยากให้พามาให้แพทย์ประเมินด้วยเช่นกัน”..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”