รู้กันหรือไม่ว่า? ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ถือเป็น “วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” (Stop Cyberbullying Day) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งสร้างความตระหนักแก่สังคมเกี่ยวกับปัญหาจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผ่านการให้ความรู้ การรณรงค์ผ่านโรงเรียนและบริษัทต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน รวมถึงสื่อโซเชียลหลัก ๆ อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แม้แต่ยูทูบ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ และเพื่ออนาคตในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีกว่าของเด็ก ๆ ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นสถานที่อัศจรรย์ในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ขึ้นได้

สำหรับ “วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” เกิดขึ้นโดย Cybersmile Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อต่อต้าน Cyberbullying โดยกำหนดให้วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน เป็นวันหยุดการระรานทางไซเบอร์สากล เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของการระรานทางไซเบอร์และร่วมหยุดพฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว

สำหรับ “Cyber Bullying” คือการระราน กลั่นแกล้ง รังแกกันบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้คนอื่นเกลียดชัง ข่มขู่ คุกคาม แฉ ประจาน ทำให้อับอาย การใส่ร้ายป้ายสีผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์อาจจะเป็นประเด็นที่พูดถึงไม่นานนักในบ้านเรา แต่ในต่างประเทศนั้นการกลั่นแกล้งในรูปแบบนี้นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมาเนิ่นนานหลายปี และเหยื่อส่วนมากก็มักจะเป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งผู้ที่เคยประสบปัญหาดังกล่าวเผยว่ามันเลวร้ายยิ่งกว่าการกลั่นแกล้งกันตรง ๆ และทำให้พวกเขารู้สึกเศร้า หดหู่ และหมดหนทางเป็นอย่างมาก

โดย ผลกระทบของ Cyberbullying นั้น เกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย ทำให้เหยื่อนอนไม่หลับ เครียด มีอาการเจ็บป่วยทางกาย และทางจิตใจ คือ เหยี่อรู้สึกอับอาย หวาดกลัว ระแวง สิ้นหวัง ไร้ค่า จนไปถึงขึ้นอาจคิดทำร้ายตนเอง หรือฆ่าตัวตาย เพราะ Cyberbullying ไม่ใช่เรื่องล้อกันเล่นขำ ๆ ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่าที่เราคิด

ทั้งนี้ สำหรับ การรับมือกับปัญหาสำหรับผู้ที่ถูกบูลลี่ กรมสุขภาพจิตได้แนะวิธีการไว้ 5 แนวทาง ดังนี้

  1. ไม่ตอบสนองต่อการกลั่นแกล้ง ไม่ว่าการกลั่นแกล้งนั้นจะกระทบกับจิตใจของเรามากแค่ไหนก็ตาม เพราะการตอบสนองจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
  2. ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะอาจจะกลายเป็นผู้กระทำความผิด และกลายเป็นจำเลยสังคม
  3. เก็บหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้ง เพื่อปรึกษาผู้ปกครอง หรือดำเนินคดี
  4. หากเกิดกรณีไซเบอร์บูลลี่ ควรรายงานกับโซเชียลมีเดียต้นทาง
  5. ตัดการติดต่อ หรือบล็อกการเชื่อมต่อ พร้อมระมัดระวังไม่ให้ตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มนี้อีก..

ขอบคุณภาพประกอบ : Pixabay