“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกข้อมูล “มะเร็ง” โดยแหล่งต่าง ๆ… ผู้ป่วยมะเร็งต่าง ๆ รายใหม่ในไทยยุคนี้สถิติคร่าว ๆ มีกว่า 380 คนต่อวัน กว่า 139,000 คนต่อปี เสียชีวิตกว่า 230 คนต่อวัน กว่า 84,000 คนต่อปี ซึ่งกับชายไทยมีอุบัติการณ์มะเร็งวันละกว่า 170 คนต่อ 100,000 คน ขณะที่คำแนะนำ “การลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง” โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ก็เช่น… ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงกินอาหารที่อาจปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ป้องกันการสัมผัสสารก่อมะเร็ง…

โฟกัสที่การลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง… กับผู้ชายนี่จากนี้ไปอาจจะมีผู้ที่พยายาม “ลดความเสี่ยงเกิดมะเร็ง” ในส่วนของ “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ด้วยการ “มีเพศสัมพันธ์ให้ถี่-มีเซ็กซ์ให้บ่อย” เข้าไว้!!

ทั้งนี้… ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจะลดลงถึงประมาณ 20% ถ้ามีอัตราการปั่มปั๊มอยู่ในเกณฑ์อย่างน้อย 21 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับผู้มีปฏิบัติการ 4-7 ครั้งต่อเดือน …นี่เป็นใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกับคำว่า “ปั่มปั๊ม” อาจารย์หมอท่านหมายถึง “การขับเคลื่อนน้ำกาม” …ซึ่งนี่อาจจุดประกายให้ชายไทยที่มีคู่ “ขยันทำการบ้านมากขึ้น” เพื่อหวังจะ “ลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก” 

อย่างไรก็ตาม กับรายละเอียดอื่น ๆ ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์ไว้ ก็น่าจะได้พินิจถี่ถ้วนด้วย เช่น… ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้แก้ปัญหาต่อมลูกหมากโต ยากลุ่มที่อาจทำให้การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากคลาดเคลื่อน ไม่เจอ…ทั้ง ๆ ที่เป็น!! และอาจทำให้มะเร็งรุนแรงลุกลามมากขึ้น!! อีกทั้งยังมีกรณี อาหารเสริมที่อ้างว่าทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลง…แต่ไม่จริง และยังอาจทำให้การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากได้ผลลบปลอม!! …ซึ่งนี่เป็น “ความรู้สุขภาพที่พึงตระหนัก”

ขณะที่ประเด็น “ปั่มปั๊ม” นั้น… ทางอาจารย์หมอท่านนี้ท่านได้โพสต์ไว้อีกโดยมีใจความสำคัญบางช่วงบางตอนว่า… มีผลการศึกษา จากการติดตามโดยคณะศึกษาทางระบาดวิทยามะเร็งที่บอสตัน ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 31,925 คน ตั้งแต่ปี 1992 จนถึง 2010… ขั้นตอนในการวิเคราะห์เจาะลึกตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1992 มีการให้รายงาน ปริมาณจำนวนของการขับเคลื่อนน้ำกาม ในช่วงเวลาตั้งแต่อายุ 20-29, 30-39, 40-49 และ 50 เป็นต้นไป… การลดความเสี่ยงของมะเร็งจะพบได้ในกลุ่มที่มี “ปฏิบัติการถี่” ทุกช่วงอายุ …โดยที่ในส่วนที่น้อยกว่า 21 ครั้งต่อเดือนนั้น… ถ้ามีอัตรา 8-12 ครั้งต่อเดือน ในช่วงอายุ 40-49 ปี จะมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง 10% และในช่วงอายุเดียวกันนี้ ถ้าอยู่ในอัตรา 13-20 ครั้งต่อเดือน ก็จะมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง 20% 

หากแต่จากโพสต์ข้อมูลสุขภาพดังกล่าว… กรณี “อย่างน้อย 21 ครั้ง/เดือน!!” นั้น ดูจะเป็นที่สนอกสนใจกันมากสุด… หรือประมาณว่า “SEX 21” กลายเป็น “รหัสสยิวป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก??” ที่จะพูดถึงกันครึกครื้นอีกยาว…

กระนั้น…กรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอชี้เน้นเนื้อความสำคัญอีกส่วนที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ไว้ในช่วงท้าย คือ… กลไกของการป้องกันมะเร็งต่อม (ลูกหมาก) ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทั้งนี้ก็เป็นได้ที่ต่อมลูกหมากสะสมสารพิษที่จะก่อมะเร็งไว้ (prostate stagnation ) และการขจัดชะล้างโดยการขับเคลื่อน (น้ำกาม) ออกไปอาจจะลดความเสี่ยง แต่ทั้งนี้อาจเป็นผลอื่น ๆ จากการที่มีการขับเคลื่อน หรือการออกกำลังปั่มปั๊มอาจจะปรับเปลี่ยนสภาพสภาวะแวดล้อมในเนื้อเยื่อต่อม อีกทั้งปฏิบัติการอาจก่อให้เกิดความหรรษาสุขอย่างฉับพลันในวินาทีนั้น ก่อให้เกิดการสั่งงานผ่านสมองมายังระบบภูมิคุ้มกัน 

“จะอย่างไรก็แล้วแต่ 21 ครั้งต่อเดือนเท่ากับมากกว่า 5 ครั้งต่ออาทิตย์ จัดเวลาให้ดีนะครับ อาจจะเสียชีวิตซะก่อนเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก” …ทาง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ไว้ ซึ่งนี่ก็ “น่าพินิจ-พึงตระหนัก!!”

ทั้งนี้ กับเรื่องนี้กรณีนี้ ลองดูข้อมูลกันอีกส่วน ย้อนไปในปี 2020 เคยมีการเผยผลสำรวจ General Social Survey โดยมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่มีการวิเคราะห์-มีการสรุปว่าโดยเฉลี่ย มนุษยชาติมีเพศสัมพันธ์ลดลงทศวรรษละประมาณ 20% และย้อนไปไกลขึ้นอีก… ทางบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) เคยเผยผลสำรวจเกี่ยวกับการมีเซ็กซ์ของชาวเอเชีย หรือ Ideal Sex in Asia Survey Results ปี 2010 โดยมีประเด็น ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ต่อเดือนของชายไทย รวมอยู่ด้วย โดยชายไทยต้องการมีเซ็กซ์เฉลี่ย 11.9 ครั้งต่อเดือน แต่มีได้จริง 7.7 ครั้งต่อเดือน ซึ่งจากปี 2010 มาถึงปี 2022 ผ่านมาทศวรรษเศษ ถ้ามนุษยชาติมีเพศสัมพันธ์ลดลงทศวรรษละประมาณ 20% ถึงตอนนี้เฉลี่ยแล้วชายไทยมีเซ็กซ์เหลือแค่กี่ครั้งต่อเดือน?? ซึ่งอย่าว่าแต่ 21 ครั้งต่อเดือน กับ 13-20 ครั้งต่อเดือน หรือแม้แต่ 8-12 ครั้งต่อเดือน… “ไหวกันเหรอ??” 

และกับกรณีนี้เรื่องนี้ กับ “SEX 21 รหัสสยิวไล่มะเร็งต่อมลูกหมาก??” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ขอความเห็นจาก ศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ แพทย์เฉพาะทางด้านปัญหาสุขภาพเพศชาย ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพ อีกหนึ่งอาจารย์หมอผู้เคยให้ความรู้ชูรักชูรสแก่คนไทยทางทีวี ซึ่งท่านได้ให้ความเห็นมาโดยหลักใหญ่ใจความมีว่า… เรื่องนี้ก็ คล้ายกับที่บอกว่า “กินมะเขือเทศเยอะ ๆ แล้วจะป้องกันการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก??” ที่เป็นงานวิจัยระดับระบาดวิทยา ซึ่งถามว่า… มีเซ็กซ์ถี่ ๆ กับมีเซ็กซ์ห่าง ๆ มะเร็งต่อมลูกหมากจะเกิดต่างกันไหม?? เรื่องนี้ไม่น่าจะทำวิจัยที่ชี้ชัดได้ง่าย ๆ และอีกมุมนี่มิใช่แค่เรื่องผู้ชาย“ถ้าจริง…แล้วคนเป็นผู้หญิงจะไหวหรือเปล่า?? ต้องบอกว่าก็คงมีทั้งไหวและไม่ไหว การที่ผู้หญิงจะมีเซ็กซ์ 21 ครั้งต่อเดือนก็คงมีคนที่ทำไม่ได้” …แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นคือ “จริงหรือเปล่า??” การมีเซ็กซ์ หลั่งน้ำอสุจิ จะช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก 

ศ.นพ.สมบุญ ระบุอีกว่า… ในรายงานที่มีการตีพิมพ์ นี่หมายความถึงการหลั่งน้ำอสุจิ จะเป็นการ “ช่วยตัวเอง” ก็ได้ ในงานวิจัยที่มีการเสนอกันก็คือว่า… การหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการมีเซ็กซ์ หรือการช่วยตัวเอง จะลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือเปล่า?? ซึ่ง ในงานวิจัยได้รายงานความแตกต่างอยู่นิดเดียว…ไม่สามารถสรุปชัดเจนได้ โดยเมื่อปี 2016 มีศาสตราจารย์ทางด้านระบาดวิทยาที่ฮาวาร์ด เขาก็รายงานว่าถ้ามีการหลั่งน้ำอสุจิมากกว่า 20 ครั้งต่อเดือนจะลดอัตราความเสี่ยงเรื่องมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 20% ซึ่งเป็นแค่วิจัยระดับระบาดวิทยา ในผู้ชายอายุ 20-50 ปี

“อันนี้ก็มีหลายคนคอมเมนต์ว่า มันเป็นงานวิจัยแค่ระดับสอบถามประวัติ ว่าคุณช่วยตัวเองกี่ครั้ง และทำในคนที่อายุน้อย ซึ่งในคนที่อยู่ในช่วงอายุนี้พบมะเร็งต่อมลูกหมากน้อย แล้วจำนวนคนไข้ที่เขาเซอร์เวย์ก็ไม่เยอะมาก เป็นความแตกต่างของคนไม่กี่ราย ของคนที่ช่วยตัวเองมากกับคนที่ช่วยตัวเองน้อย แต่มันยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีกเยอะ เช่น ยีน เชื้อชาติ โรคประจำตัว ซึ่งอาจเป็นผลทำให้อีกกลุ่มหนึ่งมีมะเร็งน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ถึงได้บอกว่าอันนี้เป็นแค่งานวิจัยระดับระบาดวิทยาแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นในความรู้สึกของผมคือเอาจริงจังยังไม่ได้ มันต้องได้รับการทำงานวิจัยระดับลึกลงไปกว่านั้น ว่าทำไม? การช่วยตัวเองมีการหลั่งสารอะไร? และสารตัวนี้ไปช่วยป้องกันมะเร็งได้ยังไง? ซึ่งในเมืองไทยก็ยังไม่มีการวิจัยเรื่องนี้” …ทาง ศ.นพ.สมบุญ ระบุทิ้งท้าย

…ทั้งนี้ จากที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โฟกัสกรณี “SEX 21 รหัสสยิวป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก??” ที่วิพากษ์ระคนขำคิกคักกันหน้าแดงต่อเนื่องมาหลายวัน… จากแง่มุมทั้งหมดทั้งมวลที่นำเสนอมาข้างต้นนั้น ก็เชื่อว่า…

“ฉายภาพ” ประเด็น “จริงดิ??” ได้ระดับหนึ่ง…

รวมถึงประเด็น “ไหวเหรอ??” ด้วยแหละ!!.