การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นรายวัน และยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือน ด้วยความโกรธเคืองที่มีต่อการตัดกระแสไฟฟ้าซึ่งนานไม่ต่ำกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งของจำเป็นเพื่อการบริโภคและอุปโภค โดยเฉพาะอาหาร ยา และเชื้อเพลิง แม้มีการปันส่วนอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังไม่ทั่วถึง

แรงกดดันจากประชาชน ส่งผลให้นายมหินทา ราชปักษา พี่ชายของประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ผู้นำศรีลังกา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น นายรานิล วิกรมสิงเห นักการเมืองรุ่นลายคราม ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 6 โดยมีภารกิจหลักคือการนำศรีลังกาฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ ทั้งด้วยการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐ กับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ )

ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ( คนขวา ) มอบเอกสารรับรองการดำรงตำแหน่ง ให้แก่นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ที่ทำเนียบในกรุงโคลัมโบ เมื่อเดือน พ.ค.

วิกฤติที่ศรีลังกากำลังเผชิญนั้น ก่อตัวมานานระยะหนึ่งแล้ว โดยมีชนวนเหตุมาจากภาวะที่เรียกว่า “การขาดดุลแฝด” ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจขาดดุลบัญชีเดินสะพัด พร้อมกับการขาดดุลการคลัง ขณะเดียวกัน รัฐบาลศรีลังกาในยุคหลังไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ

ผลที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า การส่งออกสินค้าและบริการของศรีลังกา จากที่เคยมีสัดส่วน 39% ของผลิตภัณฑ์มวรวมในประเทศ ( จีดีพี ) เมื่อปี 2543 ลดลงมาเหลือประมาณ 20% ของจีดีพีในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ศรีลังกากลับยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกได้อย่างกลมกลืน

BBC News

นอกจากนั้น ศรีลังกาเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะเรื้อรัง นับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นเร่งขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงการใหญ่มากมาย และเข้าหานักลงทุนรายใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย เพื่อระดมทุนมหาศาล แม้ประสบความสำเร็จในด้านการหาแหล่งเงินทุน แต่การเมืองภายในที่ขาดเสถียรภาพ และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปริมาณเงินคงคลังจนแทบร่อยหรอ และทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียงน้อยนิด

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ศรีลังกาให้บริษัทของจีนเข้ามาเช่าพื้นที่ 70% ของท่าเรือฮัมบันโตตา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศ เมื่อปี 2560 ขณะที่หลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศมองสถานการณ์ดังกล่าว “คือกับดักหนี้” ปัจจุบัน ความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนต่อศรีลังกา คิดเป็น 10% ของปริมาณหนี้สาธารณะทั้งหมด

BBC News

ต่อมาในปี 2563 เป็นปีที่ศรีลังกาเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประเทศแห่งนี้ ที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลัก ต้องปิดเกาะนานระหว่างเดือน เม.ย.ถึง ต.ค. ปีนั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงไม่แก้ไขสถานการณ์อย่างจริงจัง และปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายอย่างต่อเนื่อง จนปะทุเป็นระเบิดรุนแรงที่สุดในปีนี้

ชาวศรีลังกาต่อแถวยาวเหยียดในกรุงโคลัมโบ เพื่อรอซื้อก๊าซหุงต้ม

ความท้าทายที่สุดของวิกรมสิงเห ณ เวลานี้ คือการเดินหน้าเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ และไอเอ็มเอฟ เพื่อพยายามหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แม้ผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไปแล้ว แต่ศรีลังกายังคงต้องพยายามนำเสนอแผนบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืนและมีแนวทางชัดเจนกว่านี้

ขณะที่อีกหนึ่งคำถามสำคัญสำหรับหลายฝ่าย นั่นคือการที่เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างจีน จะเข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ด้วยหรือไม่ และจะแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์มากเพียงใด เนื่องจากจนถึงตอนนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังคงลังเล ที่จะหารือแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด แต่เสนอเฉพาะการประนอมหนี้ปัจจุบันแทน นัยว่ามีความกังวลว่า ประเทศอื่นจะอาศัยศรีลังกาเป็นตัวอย่าง เพื่อเจรจาเรื่องหนี้สินกับจีนในอนาคต

ศรีลังกาจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะเช่นนี้ ยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ลำบาก ในเมื่อผู้ประท้วงยืนยันจะไม่เลิกรา ตราบใดที่โกตาพญายังคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนการเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ยังไม่คืบหน้าเร็วเท่าที่ควร แสงสว่างซึ่งศรีลังกากำลังเฝ้ารอ ยังคงเป็นเส้นทางที่ต้องค้นหาต่อไป.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES