โดยที่ กรุงเทพฯ ครองแชมป์มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต นครราชสีมา ตามลำดับ ซึ่งผลสำรวจนี้รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศจากการประกาศขายผ่านเว็บไซต์ และจากสถาบันการเงินของรัฐ บริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐ และกรมบังคับคดี

กรณีเกี่ยวกับ “คนไทยแห่ประกาศขายบ้าน” นั้น…

ได้กลายเป็น “ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ” ในเวลานี้…

นี่ก็น่าคิด…”ปัจจัยใดทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น??”

ทั้งนี้ “สถานการณ์คนไทยแห่ประกาศขายบ้าน” ข้อมูลที่เป็นการเปิดเผยจากทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ REIC นั้น… ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ตลาดขายบ้านมือสองในเมืองไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ซึ่ง เดือน มี.ค. เป็นเดือนที่มีจำนวนหน่วยและมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองประกาศขายมากที่สุด โดย “ราคาบ้านมือสอง” นั้น พบว่า… ที่มีการลงประกาศขายมากที่สุด ได้แก่ ราคา 3-5 ล้านบาท และ ที่ลงประกาศขายน้อยที่สุด ได้แก่ ราคา 7.5-10 ล้านบาท …เหล่านี้ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจของ “ปรากฏการณ์เกี่ยวกับบ้าน” ที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้…

ปรากฏการณ์ “คนไทยแห่ประกาศขายบ้านกันอื้อ”

ที่ในมุมเศรษฐศาสตร์กรณีนี้ “มีประเด็นชวนคิด??”

กับปรากฏการณ์เรื่องนี้…มี “มุมวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์” โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งได้วิเคราะห์และสะท้อนถึงเรื่องนี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปรากฏการณ์ที่ คนไทยแห่ขายบ้านจนมีบ้านมือสองล้นตลาด!! ในเวลานี้ ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปัจจัย 2-3 เรื่องที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็น ผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นมา

ทาง รศ.ดร.สมชาย ได้ชวนคนไทยให้ร่วมกันวิเคราะห์ถึง “ปัจจัย” ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้น โดยระบุว่า… อยากให้ลองวาดภาพดูว่า…ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก่อนหน้านั้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยเองก็อยู่ในระดับที่ติดลบอยู่แล้ว คือก่อนจะมีโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยติดลบอยู่ที่ 6.1 ซึ่งถึงแม้ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นบวก 1.6 และบวก 2.2 ตามลำดับ แต่ถ้าหากมองจากตัวเลขที่เคยติดลบสูงถึง 6.1 แม้จะนำตัวเลขการฟื้นตัวอย่าง 1.6 กับ 2.2. มาบวกรวมกัน ก็ยังต่ำกว่าอัตราการติดลบ 6.1 ที่ประเทศไทยเผชิญมาก่อนหน้าอยู่ดี ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าวนี้…

จะคาดหวังให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในปี 2565 คงยาก

อาจจะต้องรอคอยกันต่อไปอีกสัก 1 ปี หรือปี 2566

รศ.ดร.สมชาย ยังได้ระบุถึงสถานการณ์เรื่องนี้อีกว่า… ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ไทยจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 หรือคลายล็อกแล้ว เพื่อหวังให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนกลับมากระเตื้องมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามที่หวัง เนื่องจาก “กำลังซื้อคนไทยยังไม่กลับมา” เพราะเจอปัญหา เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี”  อีกทั้งยังมีปัญหา หนี้ครัวเรือนสะสม” และ “ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น” ประกอบกัน ด้วยเหตุนี้จึงกระทบโดยตรงกับเงินในกระเป๋าของคนไทย จนส่งผลทำให้กำลังซื้อหายไปจากตลาด ที่กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว นี่ก็อาจเป็น “ปัจจัยส่วนหนึ่ง” ทำให้ “คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องตัดสินใจประกาศขายที่อยู่อาศัย” เพราะต้องการเงินสดหมุนเวียนเนื่องจากช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก หลายคนต้องเผชิญกับหนี้สินสะสม ซึ่งตัวเลขที่
สำรวจนั้น พบว่า…คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงติด 1 ใน 3 ของอาเซียน และในปีหน้า หรือปี 2566 นักวิเคราะห์ต่างก็คาดการณ์ว่า… สถานการณ์นี้ของไทยก็น่าจะยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นแบบนี้

ส่วนอีกปัจจัย ที่ก็อาจจะส่งผลทำให้ “คนไทยเทขายบ้านเพิ่มขึ้น” นั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า คือ… “กฎหมายภาษีที่ดิน” ซึ่งก็อาจมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์เรื่องนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อเริ่มบังคับใช้กฎหมายนี้ ก็จะไม่มีการยกเว้นภาษีให้แล้ว หลังจากเคยยกเว้นมา 1-2 ปี ที่ทำให้ การถือครองอสังหาริมทรัพย์มีต้นทุนเกิดขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์ขาย

“ที่น่าคิดก็คือขายเยอะ แต่กลับขายไม่ได้ เพราะกำลังซื้อมันหายไปหมด แถมกำลังซื้อใหญ่อย่างกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เช่น คนจีน ที่ชอบซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็งกำไร ก็หายไปด้วยตั้งแต่เริ่มมีโควิด-19 ก็เลยกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด และที่น่าจับตาต่อจากนี้ไปก็คือ นอกจากการเทขายบ้าน คอนโดฯ ให้จับตาธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารด้วย นี่ก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากภาวะเศรษฐกิจ” …ทาง รศ.ดร.สมชาย สะท้อนมุมวิเคราะห์

ฉายภาพปัจจัยทำให้เกิด…ปรากฏการณ์เทขาย!!”

มิใช่หุ้น…หากแต่เป็นที่อยู่อาศัย บ้านคอนโดฯ”

“ประกาศขายต่อกันมาก” แต่ ที่ซื้อต่อมีน้อย”

“คนไทยยังอ่วมทุกข์” นี่ก็ สัญญาณชี้ชัด!!” .