ช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ละครอบครัวต้องดิ้นรนหาทางประหยัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินการอยู่ อะไรที่จะประหยัดได้ ต้องหามาให้พร้อม ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตที่เคยสะดวกสบายลดลงสักนิด เพื่อให้มีเม็ดเงินเหลือกินเหลือเก็บไว้ยามจำเป็น

“เตาไฟ” เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนไทยที่มีมาแต่ช้านาน อาศัยใส่ไม้ฟืน ใส่ถ่านเป็นเชื้อเพลิง สร้างแหล่งความร้อนในการหุงต้มทำอาหาร แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาใช้เตาแก๊สและเตาไฟฟ้า แต่ก็ต้องเสียเงินกันพอสมควรทีเดียว อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันขึ้นราคา ทำให้ต้นทุนสินค้าทุกอย่างเพิ่มเป็นเงาตามตัว

ที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม มีสองสามีภรรยาทำธุรกิจในครัวเรือน ทำเตาไฟขาย ผลิตตามออร์เดอร์ส่งขายทั่วประเทศ สร้างรายได้เฉียดแสนต่อเดือน หลังวิกฤติน้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง คนที่ต้องการประหยัด หันมาสั่งจองกันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนแทบผลิตไม่ทัน

นางทุมมา พุทธมา เจ้าของผู้ผลิตเตาไฟ กับสามีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 53 บ้านน้ำโจ้ก หมู่ 14 ต.ดงใหญ่ อ.วาปีปทุม ด้วยความขยันบวกกับความชำนาญ ยึดอาชีพผลิตเตาไฟมานานนับสิบปี ส่งขายให้กับลูกค้า ยิ่งช่วงน้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง ยิ่งขายดี

นางทุมมา เปิดเผยว่า หลังจากประสบปัญหาโควิด-19 และราคาแก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิงปรับราคาเพิ่มสูง ต้นทุนการผลิตทุกอย่างสูงขึ้น ทำให้มีออร์เดอร์ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันวัตถุดิบ หิน ปูน ทราย น้ำ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ทำให้อาชีพผลิตเตาถ่านขาย ซึ่งทำให้แบกรับต้นทุนไม่ไหว จึงได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

แต่ก็ถือว่าโชคดี เพราะมีลูกค้าสั่งจองเตาไฟเพิ่มขึ้น แม้จะปรับราคาขึ้นบ้าง ลูกค้าก็ไม่บ่น เดิมจากที่เคยผลิตได้วันละ 100 เตา ปัจจุบัน 200-300 เตา ก็ยังไม่พอกับความต้องการของลูกค้า โดยมีลูกค้ามารับซื้อจากทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านมารับซื้อถึงที่

สำหรับการทำเตา เริ่มจากนำปูน ดิน ทราย และหินเกล็ด ผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงนำไปเทใส่แม่พิมพ์เตา ที่ทาน้ำมันเครื่องไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ปูนติดพิมพ์แล้วแกะออกยาก เมื่อเทปูนแล้วต้องใช้ไม้แทงปูนให้แทรกเต็มพิมพ์

ซึ่งขั้นตอนนี้ ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เตามีความแข็งแรงคงทนอายุการใช้งานได้นาน แล้วจึงใช้เกรียงปาดปูนที่ฐานเตาให้เรียบ ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงแกะออกมาตากแดด แล้วอีกประมาณ 3 ชั่วโมง ติดรังผึ้งซึ่งทำจากดินเผา ก็เป็นอันเสร็จพร้อมขายได้

ทั้งนี้เตาไฟที่ตนทำขายมีอยู่ 2 แบบคือ “เตาฮ๊าด” ซึ่งเป็นเตาปากอ้าไม่ติดรังผึ้ง เน้นเติมเชื้อไฟด้วยไม้ฟืน และ “เตาซิ่ง” ซึ่งติดรังผึ้งกันระหว่างชั้นใส่ถ่านไม้หรือไม้ฟืนกับชั้นขี้เถ้า ส่วนราคาขายปลีกจะขึ้นตามขนาด ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 100 บาท แต่ถ้าลูกค้าสั่งซื้อจำนวนมาก ก็จะมีราคาขายส่งให้

นางทุมมา กล่าวด้วยความภูมิใจว่า จากสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น ราคาแก๊สหุงต้มมีราคาสูง จึงทำให้ลูกค้าหันมาใช้เตาฟืนเตาถ่านมากขึ้น เพราะสามารถใช้ไม้หรือวัสดุทางการเกษตรมาเป็นเชื้อไฟในการให้ความร้อนประกอบอาหาร

“ปัจจุบันนี้ตนมียอดขายเตาไฟอยู่ที่วันละประมาณ 6,000 บาท รวมรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ก็ทำให้ครอบครัวตนมีรายได้รวมกันเดือนละเกือบ 1 แสนบาท ซึ่งอาชีพนี้ถือว่า ทำให้ครอบครัวตนมีอยู่มีกินและส่งลูกเรียนจนจบ โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานหาเงินต่างถิ่น”

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : กิริยา กากแก้ว จ.มหาสารคาม
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..