ย้อนไปเพิ่งปีที่แล้วนี่เองที่ ลิโอแนล เมสซี นักเตะผู้เคยเป็นสัญลักษณ์ของ “เจ้าบุญทุ่ม” บาร์เซโลนา แถลงทั้งน้ำตาที่ต้องอำลาทีมแคว้นคาตาลัน เพราะปัญหาการเงินของสโมสรที่ย่ำแย่อย่างหนัก

แต่ผ่านไปแค่ปีเดียว บาร์ซา ทำเอาหลายคนมึนกันเป็นแถวกับการที่ทีม “เลือดหมู-น้ำเงิน” กำลังมือเติบไล่ช้อปปิ้งนักเตะใหม่กระจุยกระจาย

อ้าว! ไหนว่าหนี้สินช่างมากมาย แล้วไฉนถึงเซ็นสัญญานักเตะใหม่เข้ามาเพียบ แถมล้วนเบอร์ใหญ่อย่างโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, ราฟินญา, จูลส์ กุนเด, ฟรองค์ เคสซิเยร์ (ฟรี), อันเดรียส คริสเตนเซน (ฟรี) หรือ เฟอร์นานโด ตอร์เรส และ ปิแอร์ เอเมริค โอบาเมยอง ที่ย้ายมาตั้งแต่เดือนม.ค.

บาร์เซโลนามีหนี้สินราว 1.3 พันล้านยูโร ยิ่งไปกว่านั้น ลา ลีกา ยังมีเส้นกำหนดเพดานเงินที่ชัดเจนซึ่งส่งผลต่องบในการซื้อและลงทะเบียนนักเตะใหม่จำกัด ดังนั้นบาร์ซาทำข้อตกลงเหล่านี้ได้อย่างไร?

ปีที่แล้วบาร์เซโลนาเอาตัวรอดด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว ผ่านการกู้ยืมเงิน 600 ล้านยูโรที่ทำให้มีเวลาอีก 10 ปีในการชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย

คันโยกต่อมาบาร์ซาขายรายได้ 10% จากเงินลิขสิทธิ์โทรทัศน์ 25 ปีข้างหน้าให้กับบริษัทลงทุน Sixth Street 207 ล้านยูโร จากนั้นก็ขายอีก 15% ให้กับบริษัทเดิมที่ไม่เปิดเผยตัวเลข แต่คาดว่ายอดรวม 450 ล้านยูโร ไม่รวมกับที่ขายอีก 49% ของบริษัทที่รับผิดชอบด้านการตลาดอีก 300 ล้านยูโร และได้สปอนเซอร์ต่างๆ เช่น Spotify ที่จ่ายค่า 280 ล้านยูโรเพื่อสิทธิ์ใช้ชื่อสนามเหย้า Spotify คัมป์ นู

นั่นเป็นวิธีการนอกสนามที่ฝ่ายบริหารทำให้ทีมเดินหน้าต่อ ส่วนในสนามมีการตัดนักเตะส่วนเกินที่ค่าเหนื่อยมหาศาลเป็นภาระ เช่น ฟิลิปเป คูตินโญ หรือปล่อยยืมเกลมองต์ ลองเลต์ ก็ช่วยแบ่งเบา แก้ปัญหากันไปทีละเปลาะ

ที่ยังค้างคาตอนนี้คือเฟรงกี เดอ ยอง ที่ถูกบาร์ซาพยายามถีบหัวส่งไปแมนฯ ยูไนเต็ด เพื่อได้ทั้งเงินค่าตัวและลดบัญชีรายจ่าย แต่การย้ายทีมดันเกิดปัญหาที่บาร์ซายังค้างเงินเดือนเดอ ยอง 17 ล้านยูโร จนลือกันด้วยว่านักเตะใหม่ที่ซื้อมายังลงทะเบียนกับลา ลีกา ไม่ได้หากเรื่องเงินยังเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตามเวลานี้กูรูมองว่าบาร์ซาผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ปล่อยเมสซี ดังนั้นเรื่องเคลียร์เศษเงินอีกนิดหน่อยแค่นี้ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด.

เฮียเอง