แม้สหรัฐและรัสเซียมีจุดยืนแตกต่างกันหลายเรื่อง ในบริบทภูมิศาสตร์การเมืองโลก แต่โครงการด้านอวกาศเป็นหนึ่งในความร่วมมือเพียงไม่กี่อย่าง ที่ทั้งสองประเทศร่วมงานกันได้อย่างราบรื่นมาตลอด ชัดเจนที่สุดคือ โครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส ) ซึ่งดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ปี 2541 โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) ถึงขั้นเคยออกปากว่า การมีลูกเรือของนาซาและองค์การอวกาศรัสเซีย ( รอสคอสมอส ) “อย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน” ประจำการบนไอเอสเอส “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

ขณะเดียวกัน นาซายังคงใช้บริการจรวดโซยุซของรัสเซีย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ในการเดินทางไปและกลับจากไอเอสเอส แม้ในระยะหลัง นาซาเปิดโอกาสให้สเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญารายสำคัญ ได้ทำหน้าที่ส่งและรับลูกเรือของนาซาในภารกิจไอเอสเอส แต่หลายฝ่ายยังคงยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน ว่าเทคโนโลยีดั้งเดิมของจรวดและยานแคปซูลโซยุซ “มั่นคงและเชื่อถือได้มากกว่า”

Vox

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียซึ่งตกต่ำถึงขีดสุดอยู่แล้ว จากความขัดแย้งเรื่องสงครามในยูเครน ทวีความตึงเครียดขึ้นอีกขั้น เมื่อนายยูริ บอริซอฟ ผู้อำนวยการรอสคอสมอส กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ ว่ารัสเซียจะยังคงยึดมั่นและปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับไอเอสเอสต่อไปเป็นอย่างดีและเคร่งครัด จนกว่าจะถึงกำหนดการถอนตัวออกจากโครงการดังกล่าว “หลังปี 2567”

การประกาศดังกล่าวทำให้ฝ่ายสหรัฐนั่งไม่ติด นายบิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา กล่าวว่า สหรัฐยังคงยึดมั่นกับแผนการขยายระยะเวลาการดำเนินงานของไอเอสเอสออกไปจนถึงปี 2573 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง “ต้องเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรที่ร่วมมือกันมาตลอด” ท่าทีของผู้อำนวยการรอสคอสมอส “ยังไม่ถือว่าเป็นทางการ” แม้มีการกล่าวเป็นระยะตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม เรื่องนี้ต้องผ่านการหารือและการลงนาม “ในระดับรัฐบาลเท่านั้น”

ลูกเรือของนาซาและรอสคอสมอสแถลงร่วมกัน ก่อนออกเดินทางในภารกิจชุดที่ 65 ของไอเอสเอส เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ปีที่แล้ว

แม้คำว่า “หลังปี 2567” อาจหมายถึง 2568 2569 2570 หรือรัสเซียอาจร่วมปฏิบัติการต่อบนไอเอสเอสจนถึงปี 2573 ก็ได้ แต่นายโจเซฟ อาชบัคเคอร์ ผู้อำนวยการองค์การอวกาศยุโรป ( อีเอสเอ ) เคยกล่าวว่า นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียประกาศให้วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็น “วันดีเดย์” ของสงครามในยูเครน ไม่เพียงแต่สถานการณ์ภาคพื้นดินบนโลกที่เปลี่ยนแปลง การสู้รบที่ยังคงยืดเยื้อสร้างแรงกระเพื่อมขึ้นไปไหลถึงห้วงอวกาศด้วย

จวบจนถึงปัจจุบัน ระบบการทำงานหลักบนไอเอสเอส เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาและควบคุมโดยรัสเซีย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสถานีขนาดมหึมา ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 420 ตัน ให้โคจรรอบโลก ด้วยการใช้ความเร็วและการรักษาระดับความสูงให้เหมาะสม ขณะที่สหรัฐรับผิดชอบด้านพลังงานและเสบียงมากกว่า

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงแผนการปลดประจำการไอเอสเอส นาซาเคยออกรายงานเมื่อช่วงต้นปีนี้ ว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2574 นาซาจะควบคุมให้ไอเอสเอสเดินกลับโลก และให้ตกในบริเวณที่เรียกว่า “ขั้วที่เข้าไม่ถึง” ( Pole of inaccessibility ) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จุดนีโม” ( Point of Nemo )

แผนที่แสดงการเดินทางกลับโลกของสถานีอวกาศเมียร์ และตกลงที่จุดนีโม เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2544

จุดนีโม หรือ “สุสาน” ของสถานีอวกาศและดาวเทียม เป็นพื้นที่หนึ่งทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเมื่อวัดระยะโดยรอบในรัศมี 360 องศา พบว่าอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ที่สุดในทุกทิศทาง โดยผืนดินที่อยู่ใกล้กับจุดนีโมที่สุดคือ หมู่เกาะพิตแคร์น ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ 2,688 กิโลเมตร ตั้งชื่อว่านีโม ตามชื่อของ “กัปตันนีโม” ผู้บังคับการเรือดำน้ำจากนิยายเรื่อง “ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์” (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) ของจูลส์ เวิร์น

ทั้งนี้ จุดนีโม ซึ่งเป็นภาษาละตินหมายความว่า “ไม่มีผู้ใด” คือพื้นที่ซึ่งหน่วยงานด้านอวกาศทุกแห่งบนโลกมีความเห็นตรงกันว่า เป็นบริเวณเหมาะสมที่สุดสำหรับ “การลงจอดครั้งสุดท้าย” ของสถานีอวกาศ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับต่ำมากถึงมากที่สุด

ระหว่างปี 2514 ถึง 2559 มีสถานีอวกาศและยานขนส่งอวกาศตกลงในบริเวณนี้ 263 ลำ ภายใต้การควบคุมจากสถานีปฏิบัติการภาคพื้น โดยจนถึงปัจจุบันวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณจุดนีโม คือสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย น้ำหนัก 120 ตัน ที่รอสคอสมอสควบคุมให้ตกได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2544

สำหรับการตกสู่จุดนีโมของไอเอสเอส จะได้รับการจับตามากยิ่งกว่า เนื่องจากสถานีอวกาศซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 420 ตันนี้ สร้างประวัติศาสตร์เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้งานนอกโลก มีนักบินอวกาศมากกว่า 200 คน จาก 19 ประเทศขึ้นไปปฏิบัติงาน หากปราศจากรัสเซีย ย่อมหมายความว่า นาซาต้องบังคับวัตถุขนาดมหึมานี้ให้ตกลงในจุดนีโมได้อย่างแม่นยำที่สุด และเพื่อ “ลบล้างความอับอาย” จากการที่สถานีอวกาศ “สกายแล็บ” ซึ่งครบอายุการใช้งาน 6 ปี ตกในเขตทะเลทราย ใกล้กับเมืองเพิร์ท ทางตะวันตกของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2522.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES