แจ้งเกิดไว้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2562 สำหรับ “สถานีร่วมศิริราช” สถานีสุดพิเศษไม่ใช่แค่สถานีร่วมของรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สีส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช กับรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี แต่ยังเชื่อมอาคารรักษาพยาบาลของ รพ.ศิริราช จึงเป็นสถานีแห่งแรกที่เราจะได้นั่งรถไฟฟ้าทะลุเข้าโรงพยาบาลไปหาหมอได้

วันนั้นเมื่อ 3 ปีก่อน อดีต รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่นานมานี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างรฟท. รฟม. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขยายบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเดิม 3 ปี (2 พ.ค.62 – พ.ค.65 ) ออกไปจนกว่า โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และอาคารรักษาพยาบาลของรพ.ศิริราช จะแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ

โครงการนี้จะเป็นจริงได้..!!! หรือแค่วามฝัน?? เมื่อต้องขยายบันทึกความเข้าใจ จากความล่าช้าของโครงการด้วยปัญหาอุปสรรคต่างๆ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ให้คำตอบว่า หลังขยายบันทึกความเข้าใจระหว่าง 3 หน่วยงานแล้ว คณะทำงานเตรียมการก่อสร้างและบริหารโครงการฯได้มอบหมาย รฟม. ซึ่งเป็นผู้บูรณาการแผนงาน ได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โครงการก่อสร้างสถานีศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล โดยให้จัดทำข้อมูลรายละเอียดกิจกรรม (Activity) ของโครงการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม.นั้น ล่าสุด รฟท.ได้เสนอขออนุมัติปรับกรอบวงเงินโครงการไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะเปิดประกวดราคา (ประมูล) ปลายปี 65

เดิม ครม.อนุมัติโครงการการก่อสร้างเมื่อเดือน มี.ค.62 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท รฟท.ได้ปรับลดวงเงินลง 1,950.67 ล้านบาท เนื่องจากเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในส่วนของการจัดหาขบวนรถ 4 ตู้ 4 ขบวน ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) งานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทำให้กรอบวงเงินใหม่อยู่ที่ 4,694.36 ล้านบาท จึงต้องเสนอ ครม.อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน รฟท. ได้จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และราคากลาง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคากลางแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค.66 ใช้เวลา 36 เดือน และเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ปี 70

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท รฟม.อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ โดยเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ช่วงต้นปี 66 และเปิดบริการเดินรถโครงการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ภายในปี 68 (จากเดิมปี 66) และเปิดบริการโครงการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ตลอดทั้งเส้นทางในปี 71

สำหรับอาคารรักษาพยาบาลของ รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแบบแล้ว กำลังนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เพื่อประกอบการขออนุญาตในขั้นตอนการก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 66 พร้อมเปิดบริการปี 70

ที่ประชุมขอให้ รฟท. และคณะแพทยศาสตร์ฯ กำหนดเงื่อนไขความร่วมมือการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาลไว้ในร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วย รวมทั้งให้ทุกหน่วยตรวจสอบว่ามีเงื่อนไขอื่นๆ ใดที่ต้องการเพิ่มเติมในทีโออาร์อีกหรือไม่

อาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวงเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท สูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 55,057 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งเป็น พื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตร.ม. พื้นที่รถไฟฟ้าสีแดงอ่อน 3,410 ตร.ม. และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตร.ม.

เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นสถานีร่วมที่ใช้ประโยชน์ในการเดินทาง อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดความแออัดของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ สะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

จะเป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย” โมเดลต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนโครงการอื่นๆ ตามเป้าประสงค์ แต่ต้องนับหนึ่งกันใหม่ไปอีก 5 ปี

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง